‘เล็บขบ’ เรื่องเล็กๆ ที่ไม่อาจมองข้าม

10 ก.ย. 2565 | 06:19 น.

Tricks for Life

เล็บขบ” กลายเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน เพราะไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่ยังส่งผลถึงบุคคลิกภาพที่เสียไป

 

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ระบุถึงสาเหตุของภาวการณ์เกิด “เล็บขบ” ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบมีหลายประการ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดสัดส่วนกันมากของปลายแผ่นเล็บกับส่วนโคนเล็บ พร้อมอธิบายการรักษา และการดูแลทำความสะอาดแผลไม่ให้ติดเชื้อ หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

‘เล็บขบ’ เรื่องเล็กๆ ที่ไม่อาจมองข้าม

“นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าว เล็บขบมีหนอนอยู่ในซอกเล็บนั้น การที่พบหนอนในเนื้อเยื่อข้างเล็บเรียกว่า cutaneous myiasis เป็นหนอนของแมลงวันหรือแมลงหวี่ที่มาวางไข่ไว้บนผิวหนังที่เปิดอยู่ เช่น บนฝี บนแผล หรือไชเข้ามาจากบริเวณอื่นของร่างกาย

 

หลังจากวางไข่ 1-3 วัน ก็จะฟักเป็นหนอน 1-3 สัปดาห์หนอนจะกลายเป็นดักแด้และเป็นแมลงบินออกไป การเป็นแผลที่มีการติดเชื้อหรือหนอนแมลงมักไม่หาย มีอาการอักเสบไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีแผลเปิดบนร่างกายโดยเฉพาะแผลที่เรื้อรังหรือหายช้า ควรทำความสะอาด ระวังแมลงตอมหรือปิดแผลด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้แมลงมาวางไข่ได้

 

ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะเล็บขบ (ingrown nails) คือภาวะที่ขอบด้านนอกของเล็บ กด หรือทิ่มเข้าในเนื้อด้านข้างเล็บ โดยมักเป็นกับนิ้วหัวแม่เท้า มากกว่านิ่วเท้าอื่น และเกิดน้อยมากกับเล็บนิ้วมือ

‘เล็บขบ’ เรื่องเล็กๆ ที่ไม่อาจมองข้าม

สาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบมีหลายประการ แต่ที่พบบ่อยคือความผิดสัดส่วนกันมากของปลายแผ่นเล็บกับส่วนโคนเล็บ เมื่อเดินจะเกิดแรงกดที่ปลายนิ้ว ด้านข้างแผ่นเล็บจะกดลงที่เนื้อขอบเล็บทำให้เริ่มมีอาการเจ็บเวลาเดิน คนไข้มักจะพยายามตัดเล็บโดยเฉพาะเซาะขอบข้างเล็บออกให้มากที่สุด

 

และส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดออกหมดได้โดยเหลือขอบนอกสุดของเล็บเป็นลักษณะเขี้ยวแหลม ซึ่งจะทิ่มเนื้อด้านข้างต่อไป จนเกิดอาการอักเสบ บวม ติดเชื้อ มีหนอง ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเล็บโค้งผิดปกติ (pincer nails) การสวมถุงเท้ารองเท้าที่บีบหน้าเท้าแน่นเกินไป มีเหงื่ออกเท้ามากกว่าปกติ เป็นต้น

 

การรักษาภาวะเล็บขบทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแยกเนื้อกับขอบเล็บด้วยเทป หรือการงัดขอบเล็บขึ้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเจ็บค่อนข้างมากในขณะทำ การทำเองที่บ้านโดยไม่มียาชามักจะทำไม่สำเร็จหรือไม่ถึงระดับที่จะแก้การขบได้ และมักต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการถอดเล็บเฉพาะส่วนด้านข้าง (partial nail avulsion) หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565