รมต.เอเปค ดัน BCG- FTAAP เคลื่อนศก. พร้อมส่งไม้ต่อสหรัฐฯเจ้าภาพปีหน้า

17 พ.ย. 2565 | 19:33 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 02:39 น.

รมต.เอเปค ดัน BCG- FTAAP เคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมส่งไม้ต่อสหรัฐฯเจ้าภาพปีหน้า  ด้าน “กต.”เผยเวทีรมต.เอเปคห่วงปมพลังงาน เงินเฟ้อ ความมั่งคงอาหาร เร่งBCG รับความท้าทาย

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจําปี 2022 (APEC Ministerial Meeting 2022: AMM) ที่ห้องศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ว่า  วันนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปค ซึ่งได้มีการประชุมมาตลอดเช้าวันนี้ ข้อสรุปสำคัญ มี 3 ประเด็น  ประกอบด้วยที่`1. ประชุมรัฐมนตรีเอเปค มีมติร่วมกันในการขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model ที่เรียกว่าเป้าหมายกรุงเทพเรื่อง BCG  ซึ่งจากนี้ไปจะได้มีการ เสนอให้การประชุมระดับผู้นำ ในวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายนนี้พิจารณาร่วมกันต่อไป

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

2.ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคไปสู่เป้าหมายของการจัดตั้ง FTAAP ขึ้นในอนาคต  และ3 การพิจารณาหัวข้อหลัก 3 ประเด็น คือ Open. Connect. Balance.ได้มีการแยกประชุมรายละเอียดแต่ละหัวข้อโดยมีข้อสรุปแต่ละเรื่องดังต่อไปนี้

1.ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นพ้องกันเปิดกว้างทางด้านการค้า การลงทุน เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทาน การผลิตหรือซัพพลายเชนสามารถทำงานได้

2. เห็นพ้องกันที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจเอเปคไปสู่การจัดตั้ง FTAAPในอนาคต

รมต.เอเปค ดัน BCG- FTAAP เคลื่อนศก. พร้อมส่งไม้ต่อสหรัฐฯเจ้าภาพปีหน้า

3. ที่ประชุมสนับสนุนการค้าในระบบพหุภาคีโดยให้มีองค์การการค้าโลกหรือ WTO เป็นศูนย์กลางและเร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ค้างคาอยู่ใน WTO ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุดหนุนประมงและอื่นๆ รวมทั้งให้เสริมประเด็นใหม่ๆที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ WTO ให้เกิดขึ้นต่อไป

4.เอเปคเห็นชอบร่วมกันในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านบริการของกลุ่มสมาชิกเอเปค เรื่องท่องเที่ยวขนส่งหรือโลจิสติกส์ก็ตาม

5.ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการผลักดันและเปิดโอกาสให้สตรี ไมโครเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy

6. เอเปคเห็นพ้องในการสนับสนุนแนวคิดการค้าสู่ความยั่งยืน ทั้งทางด้านสินค้าและบริการ สนับสนุนทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ   นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าและการต่างประเทศกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (AMM-APEC) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงกรอบการทำงานเพื่ออนาคตที่จะส่งต่อให้ผู้นำAPECในวันที่ 19 พ.ย.นี้ โดยสาระสำคัญที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์ราคาพลังงานที่ทรงตัวสูง ความมั่งคงด้านอาหาร รวมถึงปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยมองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถนำหลักการ BCG ได้เเก่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นหลักการเพื่อกำหนดกรอบการทำงานทั้งเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบันและความท้าทายใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ ประเด็น BCG ที่ได้ถูกเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทยจะถูกนำไปสานต่อในการประชุมAPEC ครั้งหน้าปี 2023ที่จะมีขึ้นที่สหรัฐ เพื่อให้เกิดผลต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในส่วนของ หัวข้อย่อยการประชุม “Connect”ที่ประชุมเห็นว่าควรถอดบทเรียนจากโควิดเพื่อสร้างระบบการเชื่อมโยงกันในภูมิภาคที่ปลอดภัยแต่ไร้พรมแดน โดยไม่เน้นเฉพาะปัญหาโรคโควิดเท่านั้นแต่รวมถึงปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

"เรามี APECBusinessTravelCardหรือ ABTC ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็น แต่เราก็มองว่าจะเดินทางกันอย่างไรให้ปลอดภัย และมีความเป็นSmart Mobility ซึ่งเรามองไปในระยะยาวให้เกิดความคล่องตัวและปลอดภัยด้วย"

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นด้วยถึงการเดินหน้เชื่อมโยงด้านดิจิทัล ทั้งเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(SMEs)และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ได้ให้ความเห็นเพิ่มว่าควรมีความยืดหยุ่นในแผนการพัฒนาที่มากขึ้น