"รัฐบาล"ชง 4 ประเด็น บนเวที"APEC SME" เร่งฟื้นสตาร์ทอัพ-MSME

13 ก.ย. 2565 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2565 | 19:29 น.

อนุชา เผย รัฐบาล เสนอ 4 ประเด็นสำคัญในการประชุม"APEC SME" เร่งฟื้นตัวสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก

วันที่ 13 ก.ย.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 – 10 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ที่จังหวัดภูเก็ต

 

โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน รัฐบาลเชื่อมั่นจากผลการประชุมดังกล่าวประสบผลความสำเร็จด้วยดี ที่ประชุมฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของ Start-up และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก

 

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การฟื้นตัวโดยรวมของ MSME ในเอเปค ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง” โดยผู้แทนระดับรัฐมนตรี จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ร่วมกันหารือและเห็นผลสำเร็จเป็นการสนับสนุน 4 ประเด็นสำคัญ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.เร่งรัดการประยุกต์ใช้ BCG Model ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดเล็ก และยังสนับสนุนความพยายามของโลกที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อน

 

2. การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น และ MSME ที่มีทักษะในด้านดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 3. การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

 

4. การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งเสริมนวัตกรรม การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ MSME ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากกว่าร้อยละ 98 ของธุรกิจในภูมิภาค คือ MSME โดย MSME เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 40-60 ของ GDP ของเอเปค

“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนาดเล็ก และ MSME ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและภูมิภาคในปัจจุบัน

 

โดยรัฐบาลได้สนับสนุนผ่านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาศักยภาพให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุชา กล่าว