แม้ไม่มีเศรษฐกิจ ไม่มีประชากรถาวร หรือไม่มีแม้แต่การส่งออกสินค้าสหรัฐฯ แต่ดินแดนห่างไกลและเกาะเล็ก ๆ หลายแห่งทั่วโลกกลับกลายเป็นเป้าหมายของสงครามภาษี “ตอบโต้” ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นโยบาย “Reciprocal Tariffs” ที่ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ตั้งภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับทุกประเทศและดินแดน รวมถึงบางเกาะที่มีประชากรเพียงหลักร้อย หรือไม่มีประชากรเลย แต่ถูกอ้างว่า “มีความไม่เท่าเทียมทางการค้า” กับสหรัฐฯ
ไม่มีที่ใดในโลกที่รอดพ้นจากสิ่งนี้ แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าว
แม้รายชื่อดินแดนเหล่านี้จะไม่ปรากฏในรายงานการประเมินอุปสรรคการค้าของตัวแทนการค้าสหรัฐฯ แต่รัฐบาลทรัมป์อ้างรายงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลักฐานประกอบนโยบายภาษีโลกชุดใหม่นี้ โดยยังอิงกับคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ที่ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติด้านการค้าต่างประเทศด้วย
มาดูกันว่าดินแดนเหล่านี้คือใคร และทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นเหยื่อของภาษีอเมริกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างบางดินแดนเป้าหมายในสงครามภาษีของทรัมป์
Heard and McDonald Islands ภาษี 10%
ดินแดนของออสเตรเลียแห่งนี้เป็นหมู่เกาะในแถบแอนตาร์กติกที่ห่างไกล ไม่มีประชากรอยู่อาศัยถาวร มีเพียงภารกิจวิจัยวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียชั่วคราวเท่านั้น สถานีวิจัยถาวรแห่งสุดท้ายปิดตัวลงตั้งแต่ปี 1954
เกาะเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของ "เพนกวินและแมวน้ำ" และใช้เวลาเดินทางทางเรือจากแผ่นดินออสเตรเลียประมาณ 2 สัปดาห์
แม้จะไม่มีการค้ากับสหรัฐฯ เลยในทางปฏิบัติ ข้อมูลของรัฐบาลแสดงว่าปีที่แล้วไม่มีการนำเข้าสินค้าจากเกาะนี้ แต่หมู่เกาะนี้ก็ยังถูกจัดเก็บภาษี 10% เช่นกัน
CIA World Factbook ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาะนี้ยุติลงตั้งแต่ปี 1877 เมื่อการค้าขายน้ำมันแมวน้ำช้างทะเลสิ้นสุดลงหลังประชากรแมวน้ำแทบสูญพันธุ์
โตเกเลาเป็นหมู่เกาะปะการังเขตร้อน 3 เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของนิวซีแลนด์ มีประชากรประมาณ 1,500 คน
เศรษฐกิจพึ่งพาเกษตรเพื่อยังชีพเป็นหลัก จึงแทบไม่มีการส่งออกพืชผล และมีรายได้เสริมจากการประมง
การค้าสินค้ากับสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 500,000 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ โดย CIA ระบุว่า โตเกเลามีโอกาสทางเศรษฐกิจที่จำกัดมาก
ข้อมูลจาก Observatory of Economic Complexity ยังแสดงว่าสหรัฐฯ อยู่ในลำดับท้ายของตลาดส่งออกและนำเข้าของโตเกเลา
Christmas Island ภาษี 10%
ดินแดนของออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย 360 กิโลเมตร มีประชากรไม่ถึง 2,000 คน และเคยใช้เครื่องจักรกลหนักจากสหรัฐฯ ในการทำเหมืองฟอสเฟตมานานหลายสิบปี
ไม่มีการค้าระหว่างเกาะคริสต์มาสกับอเมริกานอกจากการสั่งซื้อเครื่องจักรเหมืองผ่าน Tractors Singapore กอร์ดอน ทอมสัน ประธานเทศบาลเกาะคริสต์มาสกล่าว โดยอ้างถึงตัวแทนจำหน่ายของบริษัท Caterpillar Inc. จากเท็กซัส
เขาระบุว่า ฟอสเฟตเป็นสิ่งเดียวที่เกาะนี้ส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ในปี 2023 สหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามูลค่า 49 ล้านดอลลาร์ไปยังเกาะคริสต์มาส และนำเข้าสินค้าเพียง 4.4 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นปีที่ผิดปกติสำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าที่โดยปกติแล้วมีมูลค่าเล็กน้อย
Svalbard และ Jan Mayen ภาษี 10%
รัฐบาลทรัมป์รวมหมู่เกาะสวาลบาร์ดของนอร์เวย์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,500 คน เข้ากับเกาะแยน ไมเอิน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,100 กิโลเมตร และกำหนดภาษีรวมกัน 10%
เกาะแยน ไมเอินไม่มีประชากรถาวร มีเพียงสถานีวิจัยทางทหารและอุตุนิยมวิทยาของนอร์เวย์ และเป็นที่อยู่อาศัยของ "หมีขั้วโลก"บางส่วน โดยบางส่วนของเกาะยังถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง
บทบาทหลักของทหารนอร์เวย์ที่นี่คือการรักษาสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือเกาะนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (US Census) แสดงว่าสหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลกับดินแดนทั้งสองมาตลอด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากดินแดนนี้ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์
British Indian Ocean Territory ภาษี 10%
ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรนี้ ประกอบด้วยเกาะกว่า 1,000 แห่งในหมู่เกาะชากอส (Chagos Archipelago) ระหว่างอินโดนีเซียกับแทนซาเนีย มีพื้นที่รวมเพียง 60 ตารางกิโลเมตร
เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ Diego Garcia ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพร่วมอังกฤษ–สหรัฐฯ มีทหารประจำการประมาณ 4,000 นาย แต่ไม่มีประชากรถาวร
ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังดินแดนนี้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี น่าจะเป็นอุปกรณ์ทางทหาร โดยมีการนำเข้าสินค้ากลับมาในปริมาณน้อยมาก
Cocos (Keeling) Islands ภาษี 10%
อีกหนึ่งดินแดนออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยเกาะปะการัง 2 กลุ่ม รวม 27 เกาะ มีประชากรไม่ถึง 600 คนเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยว และอาหารรวมถึงของจำเป็นอื่น ๆ ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากออสเตรเลีย แต่สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมต่อเรือ
ข้อมูลจาก US Census ระบุว่ามูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ต่อปี
Falkland Islands ภาษี 41%
หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ มีประชากรประมาณ 3,600 คน เป็นดินแดนที่สหราชอาณาจักรและอาร์เจนตินาเคยมีข้อพิพาททางทหารกันในช่วงทศวรรษ 1980
เศรษฐกิจพึ่งพาการประมง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว โดยขนแกะจากการเลี้ยงแกะถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
รัฐบาลทรัมป์อ้างว่า ภาษี อุปสรรคทางการค้า และการบิดเบือนค่าเงินของดินแดนนี้เทียบเท่ากับการจัดเก็บภาษี 82% ต่อสินค้าสหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยภาษี 41%
สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าสินค้ากับฟอล์กแลนด์มาตลอด โดยปีที่แล้วนำเข้าสินค้ามากกว่าที่ส่งออก 18.7 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 31.2 ล้านดอลลาร์เมื่อสองปีก่อน
Norfolk Island ภาษี 29%
เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นดินแดนของออสเตรเลีย มีประชากรประมาณ 2,000 คน ถูกจัดเก็บภาษีสูงถึง 29% ซึ่งรัฐบาลทรัมป์อ้างว่ามาจาก “ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม” รวม 58% ที่เรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ
เศรษฐกิจหลักคือการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกทางเกษตรกรรมเล็กน้อยส่งไปยังยุโรป
จอร์จ แพลนต์ ผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลียบนเกาะกล่าวกับสำนักข่าว AP
พวกเราไม่ได้เก็บภาษีอะไรเลย และผมนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอะไรอยู่ ดังนั้น พวกเราก็เลยงงกันไปหมด
เจ้าของธุรกิจบนเกาะที่ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ต่างก็ระบุว่า ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตบนเกาะ
ตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ การค้าระหว่างเกาะนี้กับสหรัฐฯ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมไม่ถึง 1.5 ล้านดอลลาร์
Saint Pierre and Miquelon ภาษี 50%
ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ติดกับรัฐนิวฟันด์แลนด์และลาบราดอร์ของแคนาดา มีประชากรประมาณ 5,000 คน
รัฐบาลทรัมป์อ้างว่าดินแดนแห่งนี้เรียกเก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ ในอัตรา 99% จึงใช้เหตุผลนี้เก็บภาษีตอบโต้ 50% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราสูงที่สุดในรายการ
อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะเล็ก 8 แห่งนี้มีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกปลาและการท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีการนำเข้าสินค้าจากดินแดนนี้มูลค่า 3.4 ล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2024 แต่ข้อมูลรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงว่าการค้ารวมมีขนาดเล็กมาก