ผู้แสวงบุญฮัจญ์ในเมกกะ เสียชีวิตแล้วกว่า 1,300 คนท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด

24 มิ.ย. 2567 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2567 | 08:36 น.

ซาอุดีอาระเบียเปิดเผยตัวเลขทางการของผู้จาริกแสวงบุญที่เสียชีวิตระหว่างเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในนครเมกกะในปีนี้ มีจำนวนถึง 1,301 คน สาเหตุจากสภาพอากาศร้อนจัดที่ทะลุ 51 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ขณะที่ตัวเลขผู้แสวงบุญที่เข้าร่วมงานเฉียด 2 ล้านคน  

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวมุสลิม เกือบ 2 ล้านที่เดินทางมาเข้าร่วม พิธีฮัจญ์นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในปีนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดรุนแรง และข้อมูลการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตเป็นชาวอียิปต์ โดยแหล่งข่าวด้านการแพทย์และความมั่นคงกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.) ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวอียิปต์อยู่ที่ 672 คน และยังมีชาวอียิตป์ที่ยังสูญหายอีก 25 คน

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังเปิดเผยว่า มีผู้แสวงบุญชาวอินโดนีเซีย 236 คนที่เสียชีวิตในระหว่างเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ปีนี้ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 มิ.ย. ขณะที่ทางการอินเดียระบุว่า มีพลเมืองชาวอินเดีย 98 คนที่เสียชีวิตที่นครเมกกะขณะเข้าร่วมพิธีสำคัญดังกล่าว 

ยังมีรายงานการเสียชีวิตของผู้แสวงบุญจากประเทศอื่น ๆ ด้วย อาทิ ตูนิเซีย จอร์แดน อิหร่าน มาเลเซีย และเซเนกัล รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คน 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงตัวเลขทางการของกระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.) ระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 1,301 คนนั้น 83% เป็นผู้แสวงบุญที่มาร่วมงานโดยไม่ได้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการและเสียชีวิตจากการเดินเป็นระยะทางไกลท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด กระบวนการพิสูจน์และระบุตัวบุคคลมีความล่าช้า เนื่องจากผู้เสียชีวิตหลายคนขาดเอกสารยืนยันตัวบุคคล ทั้งนี้ ร่างผู้เสียชีวิตจะมีพิธีฝังที่นครเมกกะ   

ในจำนวนผู้เสียชีวิต 1,301 คนนั้น 83% เป็นผู้แสวงบุญที่มาร่วมงานโดยไม่ได้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ

ด้านหน่วยงานรับมือวิกฤตของอียิปต์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบสวนเรื่องนี้ กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ได้สั่งระงับใบอนุญาตบริษัททัวร์ 16 แห่งและส่งชื่อให้อัยการดำเนินคดีในฐานที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้แสวงบุญที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการลงทะเบียนในระบบของทางการก่อนเดินทางไปร่วมพิธี

หน่วยงานดังกล่าวยืนยันด้วยว่า มีผู้เสียชีวิต 31 รายหมดลมเพราะอาการป่วยเรื้อรั้ง โดยทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มที่ลงทะเบียนเป็นผู้จาริกแสวงบุญไปนครเมกกะในปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า ปีนี้ มีชาวอียิปต์ที่เดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์โดยไม่ลงทะเบียนให้ถูกต้องตามระบบมากกว่า 50,000 คน แหล่งข่าวระบุว่า การไม่ลงทะเบียนร่วมงานอย่างถูกต้องหรือไม่มีวีซ่าเฉพาะของผู้แสวงบุญ ทำให้ผู้แสวงบุญจำนวนมาก มาร่วมงานในนครเมกกะทั้ง ๆที่ไม่มีการจองที่พัก และทำให้พวกเขาไม่มีสถานที่หลบแดดหรือสภาพอากาศที่ร้อนจัดเมื่อร่างกายไปต่อไม่ไหว

เท่าที่ผ่านมาในอดีต การเสียชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลกในพิธีฮัจญ์ หลายครั้งที่มีผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อร่วมพิธีแสวงบุญเป็นเวลาห้าวัน นอกจากการเจ็บป่วยเสียชีวิตแล้ว ยังเคยมีข่าวการเบียดเสียดแออัดและเหยียบกันเสียชีวิต เช่นในปี 2015 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน และก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นในปี 1990 มีผู้เสียชีวิต 1,426 คน  นอกจากนี้ ยังเคยมีการเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในปีนี้สูงผิดปกติ ซึ่งบ่งบอกถึงสถานการณ์พิเศษ

ในช่วงพิธีฮัจญ์ปีนี้ อุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันอยู่ระหว่าง 46 องศาเซลเซียส (117 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 49 องศาเซลเซียส (120 องศาฟาเรนไฮต์) ในเมกกะและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆทั้งในเมืองและรอบๆ เมือง อุณหภูมิสูงสุดเท่าที่วัดได้คือ 51 องศาเซลเซียส  

พิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเสาหลักของศาสนาอิสลาม นับเป็นการรวมตัวทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวเลขทางการของซาอุฯ ระบุว่า ชาวมุสลิมมากกว่า 1.83 ล้านคนมาร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2567 ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 1.6 ล้านคนมาจาก 22 ประเทศทั่วโลก ส่วนพลเมืองและผู้พำนักอยู่ในซาอุดิอาระเบียมีประมาณ 222,000 คน

ซาอุดีอาระเบียใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการควบคุมฝูงชนและมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ที่เข้าร่วมการเดินทางแสวงบุญประจำปีเป็นเวลา 5 วัน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมที่แท้จริงทำให้ยากต่อการรับรองความปลอดภัยของพวกเขา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

รถพยาบาลเตรียมพร้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น การศึกษาในปี 2019 โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ พบว่า พิธีฮัจญ์จะถูกจัดขึ้นในอุณหภูมิที่เกิน “เกณฑ์อันตรายขั้นรุนแรง” ตั้งแต่ปี 2047 ถึง 2052 และตั้งแต่ปี 2079 ถึง 2086

ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามยึดตามปฏิทินจันทรคติ ดังนั้นฮัจญ์จึงมาถึงเร็วขึ้นประมาณ 11 วันในแต่ละปี ภายในปี 2029 พิธีฮัจญ์จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน และหลายปีหลังจากนั้นจะจัดขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิลดลง