สงครามอิสราเอลพ่นพิษ “KFC มาเลย์” ปิดกว่าร้อยสาขา หลังโดนมุสลิมคว่ำบาตร

30 เม.ย. 2567 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2567 | 17:55 น.
757

"เคเอฟซี"ในมาเลเซียสุดจะต้านทานกระแสคว่ำบาตร หลังชาวมุสลิมส่วนหนึ่ง กล่าวหาทางร้านเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอล ที่กำลังเปิดฉากโจมตีมุสลิมปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา กระแสคว่ำบาตรทำให้ทาง KFC ต้องตัดสินใจ "ปิดชั่วคราว" กว่าร้อยสาขา

เคเอฟซี (KFC) แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกัน จเป็นต้อง ปิดทำการ สาขาใน ประเทศมาเลเซีย เป็นการชั่วคราวมากกว่า 100 สาขา โดยระบุเหตุผลว่า ธุรกิจของ KFC กำลังเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ยังคงเดินหน้ารณรงค์การคว่ำบาตรธุรกิจหลายแห่งที่มีความเชื่อมโยงกับ อิสราเอล โดยการคว่ำบาตรดังกล่าวยืดเยื้อยาวนานหลายเดือนแล้ว ตราบเท่าที่อิสราเอลยังคงบุกถล่มฉนวนกาซาซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 34,000 คน

บริษัท คิวเอสอาร์ แบรนด์ส (QSR Brands) ซึ่งเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์ KFC ในมาเลเซียมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้ “มาตรการเชิงรุก” ปิดหลายสาขาเป็นการชั่วคราว ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐกะลันตันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดการกับต้นทุนที่ทะยานสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็หันไปให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีคนเข้าร้านมากกว่า

เดอะ สเตรทไทม์ส สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มี 108 สาขา KFC ในมาเลเซียที่ปิดสาขาไปแล้วชั่วคราว

ทั้งนี้ บริษัทระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (29 เม.ย.67) ว่า พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสาขา จะได้รับโอกาสทำงานในสาขาอื่นๆ ที่มีลูกค้ามากกว่า ซึ่งมารตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

KFC มีพนักงานราว 18,000 คนในมาเลเซีย และพนักงานราว 85% เป็นมุสลิม

จากข้อมูลของบริษัท พบว่า KFC มีพนักงานราว 18,000 คนในมาเลเซีย และพนักงานราว 85% เป็นมุสลิม

การคว่ำบาตรในลักษณะดังกล่าวของผู้บริโภคชาวมุสลิมในมาเลเซียไม่ได้เกิดกับ KFC เพียงรายเดียว แต่ยังเกิดกับเชนฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกันรายอื่นๆด้วย เช่น McDonald’s และ Starbucks เนื่องจากผู้บริโภคมองว่า แบรนด์เหล่านี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ประเทศอิสราเอลในการโจมตีฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากความขัดแย้งครั้งนี้หลายหมื่นชีวิตแล้ว

 

กระแสคว่ำบาตรธุรกิจสัญชาติอเมริกันส่งผลกระทบต่อธุรกิจในมาเลเซียเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า ในเดือนมีนาคม บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ร้านสตาร์บัคส์ในมาเลเซีย ได้ออกมาขอร้องให้ชาวมุสลิมมาเลย์เลิกแบนธุรกิจของสตาร์บัคส์ เพราะมากกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมดนั้นเป็นชาวมาเลเซียเอง

ขณะที่แมคโดนัลด์ ได้ยื่นฟ้องขบวนการคว่ำบาตรที่สนับสนุนปาเลสไตน์เมื่อเดือนมกราคม เนื่องจากกระแสปลุกปั่นดังกล่าว ทำให้สาธารณชนเกิดความเกลียดชังต่อแบรนด์และสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจของแมคโดนัลด์ ทั้งนี้ บริษัทได้เรียกร้องค่าเสียหายไป 1,300 ล้านดอลลาร์ คดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว

สงครามอิสราเอลพ่นพิษ “KFC มาเลย์” ปิดสาขาระนาวหลังโดนมุสลิมคว่ำบาตร

ในส่วนของรัฐบาลมาเลเซียเอง ก็มีส่วนร่วมในการต่อต้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลมาเลเซียออกมาเตือนเมื่อเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนรอมฎอนปีนี้ว่า รัฐบาลมาเลเซียจะดำเนินมาตรการเข้มงวดกับใครก็ตามที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ด้วยการจำหน่ายอินทผลัมจากอิสราเอล

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกาซา ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งและการระดมโจมตีฉนวนกาซาโดยฝ่ายอิสราเอล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วเกือบๆ 35,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และทำให้มีประชาชนที่ต้องพลัดถิ่นจำนวนราว 2.3 ล้านคน