สงครามอิสราเอลลามโลกธุรกิจ มุสลิมมาเลย์-อินโดฯ ร่วมแบนสินค้าชาติตะวันตก

09 มี.ค. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 08:14 น.

ผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาสกำลังลุกลามโลกธุรกิจ ชาวมุสลิมมาเลย์ฯ-อินโดฯ รณรงค์ต่อต้านสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกสัญชาติตะวันตก โทษฐานให้การสนับสนุนอิสราเอลโจมตีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ยูนิลีเวอร์-แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ ยอมรับยอดขายลดวูบ

 

สินค้าแบรนด์ดังของชาติตะวันตก ตั้งแต่ยูนิลีเวอร์ สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ จนถึงดานอน กำลังได้รับผลกระทบจาก กระแสต่อต้านอิสราเอล และชาติพันธมิตรประเทศตะวันตก ซึ่งกำลังลุกลามใน ประเทศมุสลิม อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และโลกอาหรับ ที่มองว่าสินค้าของชาติตะวันตกเหล่านี้ให้การสนับสนุนกองทัพอิสราเอลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซา

ยูนิลีเวอร์ ซึ่งมีสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ดังมากมายอย่าง สบู่โดฟ และไอศกรีมเบนแอนด์เจอร์รี และเชนอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังอย่างแมคโดนัลด์ เป็นค่ายใหญ่ที่ออกมายอมรับว่า ธุรกิจของบริษัทกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

"ในอินโดนีเซีย เราได้เห็นตัวเลขยอดขายไตรมาสสี่ (2566) ปรับลดเป็นเปอร์เซ็นต์ในอัตราตัวเลขสองหลัก ขณะที่ยอดขายของอีกหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจข้ามชาติต่างก็ได้รับผลกระทบจากแคมเปญต่อต้านสินค้าที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์" นายเฟอร์นานโด เฟอร์นานเดซ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของยูนิลีเวอร์กล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กระแสต่อต้านสินค้าแบรนด์ตะวันตกซึ่งเป็นผลจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส กำลังส่งผลกระทบต่อยอดขายของภาคธุรกิจ

ผู้ร่วมกระแสต่อต้านสินค้าตะวันตกรายหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทวัย 28 ปี พำนักอยู่ชานกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย กล่าวกับสำนักข่าวนิคเคอิ เอเชียว่า เธอเองพยายามเลือกที่จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าของประเทศตะวันตก เช่น ยูนิลีเวอร์ และดานอน ซึ่งออกมาให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผย ความรู้สึกส่วนตัวของเธอก็คือ เธอรู้สึกร่วมถึงความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นมุสลิมในฉนวนกาซา จึงไม่อยากใช้เงินซื้อสินค้าของบริษัทที่สนับสนุนอิสราเอล

ถึงแม้ว่าบรรดาบริษัทข้ามชาติจะพยายามลบล้างความคิดความเชื่อของผู้บริโภคที่ว่าพวกเขาถือหางเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในสงครามครั้งนี้ แต่ก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

บริษัทยูนิลีเวอร์อินโดนีเซียออกแถลงการณ์เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา แสดงจุดยืนว่า บริษัทมีความเศร้าใจและห่วงใยเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็แสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่า สินค้าที่ผลิตมาตอบโจทย์ความต้องการของชาวอินโดนีเซียเป็นเวลา 90 ปีแล้วนั้น เป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยชาวอินโดนีเซียซึ่งจะได้รับผลกระทบหากเกิดกระแสต่อต้านสินค้าของบริษัท

แมคโดนัลด์ยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากกระแสต่อต้าน

ด้านบริษัทแมคโดนัลด์เปิดเผยผลประกอบการเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ายอดขายไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ลดลงมากโดยเฉพาะในแผนกธุรกิจนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ธุรกิจในต่างประเทศของแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านระบบแฟรนไชส์มีการเติบโตเพียง 0.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 จากที่เคยโตในระดับ 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รายงานของบริษัทระบุว่า ผลประกอบการดังกล่าวสะท้อนผลกระทบที่บริษัทได้รับจากภาวะสงครามในตะวันออกกลาง

คริส เคมก์ซินสกี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแมคโดนัลด์ เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในตลาดตะวันออกกลาง และประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

“ตราบเท่าที่สงครามยังดำเนินต่อไป เราก็ไม่อาจคาดหวังจะเห็นผลประกอบการที่กระเตื้องขึ้นในตลาดเหล่านี้”

ด้านบริษัทเบอร์จายา ฟู้ด ซึ่งเป็นผู้ถือแฟรนไชส์ร้านสตาร์บัคส์ในมาเลเซีย เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่สิ้นสุดลงในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทลดลง 38.2% สู่ระดับประมาณ 38.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทยอมรับว่า ยอดขายที่ลดฮวบลงนี้เป็นผลจากกระแสต่อต้านที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามอิสราเอล

“กระแสต่อต้านของผู้บริโภคจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทเบอร์จายา ฟู้ด ในระยะใกล้นี้ และจะส่งผลต่อราคาหุ้นบริษัทจนกว่าการต่อต้านจะสิ้นสุดลง” รายงานของบริษัทหลักทรัพย์ CGS-CIMB Securities ในมาเลเซียระบุ และยังคาดการณ์ด้วยว่า ผลกำไรสุทธิของบริษัทตลอดทั้งปี 2567 นี้ จะลดลงราว 30%

ปัจจุบัน เบอร์จายา ฟู้ด ดำเนินการร้านสตาร์บัคส์ในมาเลเซียจำนวน 400 สาขา มีการจ้างงานพนักงานมากกว่า 5,000 คน บริษัทออกแถลงการณ์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลังเกิดกระแสต่อต้านสินค้าของชาติตะวันตกในมาเลเซียที่รวมถึงสตาร์บัคส์ ว่า บริษัทขอประณามการใช้ความรุนแรง และข้อความที่แสดงความเกลียดชัง แม้จะมีการโพสต์ข้อความโจมตีสินค้าตะวันตกในโลกโซเชียลมีเดีย แต่บริษัทขอยืนยันว่าธุรกิจของบริษัทที่ดำเนินอยู่ไม่มีวาระทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่เคยนำผลกำไรไปสนับสนุนรัฐบาลหรือปฏิบัติการทางทหารในประเทศใดๆ

วินเซนต์ ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเบอร์จายา ฟู้ด

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของเบอร์จายา ฟู้ด ยังต้องออกมายืนยันว่า บริษัทถือหุ้นโดยชาวมาเลเซียและจ้างงานพนักงานชาวมาเลเซีย นอกจากนี้พนักงานในร้าน 80-85% ยังเป็นชาวมุสลิม ดังนั้น กระแสต่อต้านสตาร์บัคส์มีแต่จะส่งผลกระทบต่อชาวมาเลเซียเอง 

นับตั้งแต่ที่การสู้รบระหว่างกองทัพอิสเราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 มาจนถึงขณะนี้ ความเสียหายได้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย โดยในวันที่ฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลครั้งแรก มีชาวอิสเราเอลและต่างชาติถูกสังหารราว 1,200 คน และยังถูกนักรบฮามาสจับไปเป็นตัวประกันอีกราว 200 คน ขณะที่การโต้กลับทั้งทางบกและทางอากาศของอิสราเอลในเขตฉนวนกาซาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์ โดยอ้างเพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่มฮามาสนั้น ทำให้มีพลเรือนปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน

ความเสียหายดังกล่าวทำให้นานาประเทศออกมาเรียกร้องการหยุดยิง และในหลายประเทศที่มีชาวมุสลิม ก็มีการชุมนุมเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซาที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียออกมากล่าวประณามอิสราเอลหลายครั้งเกี่ยวกับการโจมตีฉนวนกาซา ขณะที่นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของนานาประเทศเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในเขตฉนวนกาซาว่าเป็นพฤติการณ์ “ปากว่าตาขยิบ”

ปัจจุบัน ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับอิสราเอล แต่รัฐบาลทั้งสองประเทศก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระแสเรียกร้องต่อต้านสินค้าอิสราเอลและสินค้าของโลกตะวันตกที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นายซุลคิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า หากจะมีผู้เรียกร้องให้แบนสินค้าตะวันตก ก็สามารถทำได้หากยังอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลไม่ได้ห้ามในเรื่องนี้