3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ประวัติและความสำคัญ

03 มี.ค. 2567 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2567 | 06:35 น.

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันแห่งการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าโลก ตลอดจนสร้างความตระหนักให้มนุษย์ได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่กำลังถูกคุกคาม และหลายชนิดก็ใกล้สูญพันธุ์

 

วันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือที่เรียกเต็มๆว่า วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่ ภาคีอนุสัญญาไซเตส (CITES) หรือชื่อเต็มคือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 วัตถุประสงค์การก่อตั้งไซเตสในครั้งนั้น ก็เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตสจำนวน 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ

สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจน ใกล้สูญพันธุ์ ลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและให้คนหันมาอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้นจึงมีการกำหนด วันอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าโลก ขึ้นมา

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์กร International Union for Conservation of Nature (IUCN) ว่าด้วยบัญชีรายชื่อพันธุ์สัตว์และพืชที่ถูกคุกคาม (Red List of Threatened Species) พบว่า

  • มีสัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ ที่อยู่ในข่าย "ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง"
  • ในขณะที่อีกเกือบ 30,000 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
  • จากประมาณการนี้ เป็นไปได้ว่า มากกว่าหนึ่งล้านชนิดพันธุ์กำลังถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์

การสูญเสียชนิดพันธุ์ ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์และพืช รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยคุกคามต่อทุกชีวิตบนโลกรวมทั้งมนุษย์ เนื่องจากการดำรงชีวิตของมนุษย์เองนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย หรือเครื่องนุ่งห่ม ผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรพืชและสัตว์ เพื่อการทำมาหากินและการดำรงชีวิตอยู่ 

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 68 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีมติประกาศอย่างเป็นทางการ ให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ" (United Nations World Wildlife Day) พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัฐสมาชิก และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญดังกล่าว โดยผ่านแนวคิดหลัก (Theme) ที่จะมีการกำหนดขึ้นในแต่ละปี

แนวคิดหลักของ "วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก" ประจำปีนี้ คือ Connecting People and Planet: Exploring Digital Innovation in Wildlife Conservation

โดยในปี 2024 นี้ (พ.ศ. 2567) วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก กำหนดแนวคิดหลักประจำปีว่า Connecting People and Planet: Exploring Digital Innovation in Wildlife Conservation (เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างนวัตกรรม นำสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน) ภาคีทั่วโลกจะจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกพร้อมกันในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม

กิจกรรมจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่า การค้า และรวมถึงตระหนักผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นๆ ต่อระบบนิเวศ และประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 โดยมีเว็บไซต์กลาง https://wildlifeday.org/en เผยแพร่ข้อมูลการจัดงาน

สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งกิจกรรมในแต่ละปีจะมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย