ทีซีพี กรุ๊ป รุกเปิดฐานผลิต "เครื่องดื่มกระทิงแดง" ใหญ่สุดในจีน

15 ธ.ค. 2566 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2566 | 13:32 น.

ทีซีพี กรุ๊ป จากประเทศไทย เปิดฐานผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงใหญ่สุดในจีน มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท กำลังการผลิตรายปีกว่า 1,400 ล้านกระป๋อง นอกจากจะเป็นฐานการผลิตที่มีการลงทุนโดยตรงมากที่สุด ยังมีสายการผลิตมากสุด และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะระดับสูงสุดในจีนอีกด้วย

 

โครงการฐานการผลิต เครื่องดื่มกระทิงแดง ของ ทีซีพี กรุ๊ป (TCP Group) จากไทยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเน่ยเจียง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้เริ่มต้นการดำเนินงานเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) นับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่ทีซีพี กรุ๊ป ลงทุนโดยตรงในจีน ทั้งยังเป็นฐานการผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงขนาดใหญ่ที่สุดในจีนอีกด้วย

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีน รายงานว่า ฐานการผลิตแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 167 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2 พันล้านหยวน หรือราว 1 หมื่นล้านบาท มีสายการผลิต 5 สาย กำลังการผลิตรายปีตามการออกแบบอยู่ที่ 1.44 พันล้านกระป๋อง และมูลค่าผลผลิตรายปีจะแตะ 5 พันล้านหยวน (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) หลังจากก่อสร้างโครงการเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้เป็นฐานการผลิตที่มีการลงทุนมากที่สุด สายการผลิตมากที่สุด และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะระดับสูงสุดของทีซีพี กรุ๊ป ในจีน

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ฐานการผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงแห่งนี้ จะเป็นฐานการผลิตที่มีการลงทุนมากที่สุด ของทีซีพี กรุ๊ป ในจีน

มีสายการผลิตมากที่สุด และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะระดับสูงสุดอีกด้วย กำลังการผลิตรายปีตามการออกแบบอยู่ที่ 1.44 พันล้านกระป๋อง

(แฟ้มภาพซินหัว)

สำหรับเมืองเน่ยเจียงของซื่อชวน ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ได้ดึงดูดเหล่าผู้ประกอบการจำนวนมากจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ เช่น ซีพี กรุ๊ป (CP Group) ที่เข้ามาในปี 1992 และทีซีพี กรุ๊ป ที่เข้ามาในปี 2020 โดยเน่ยเจียงได้เดินหน้าการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับ 63 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงไทยและเวียดนาม

ข้อมูลจากสำนักความร่วมมือทางเศรษฐกิจเน่ยเจียงระบุว่า ปริมาณการนำเข้าและส่งออกของเน่ยเจียงกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 1.14 พันล้านหยวน (ราว 5.7 พันล้านบาท) ในปี 2022 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.8 ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของเมืองในปีดังกล่าว และร้อยละ 96 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเน่ยเจียงมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ส่วนการค้าระหว่างประเทศของเน่ยเจียงในปีนี้คาดว่าจะสูงเกิน 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปีก่อน

เน่ยเจียงได้ดำเนินโครงการการลงทุนใหม่ จำนวน 169 โครงการ ซึ่ง 67 โครงการมีมูลค่าสูงเกิน 500 ล้านหยวน (ราว 2.5 พันล้านบาท) มีการลงทุนที่แท้จริงในโครงการอุตสาหกรรมนำเข้าจากนอกเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.25 เมื่อเทียบปีต่อปี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงแตะ 35.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.25 พันล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่สำนักฯ เผยว่าเน่ยเจียงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก และพยายามบุกเบิกความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างประเทศรูปแบบใหม่อย่างแข็งขัน
ทั้งนี้ "นิคมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมซื่อชวน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งถือเป็นนิคมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกของซื่อชวน ได้เปิดทำการในเมืองเน่ยเจียงพร้อมกันเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) อีกด้วย ซึ่งนิคมแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจอันมุ่งเน้นการส่งออกของเน่ยเจียง

เจ้าหน้าที่สำนักพาณิชย์มณฑลซื่อชวนระบุว่าสำนักพาณิชย์ฯ จะสนับสนุนเน่ยเจียงในการขยับขยายความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนเน่ยเจียงทำการพัฒนาตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลึกซึ้ง และมีส่วนร่วมในโครงข่ายอุตสาหกรรมระดับโลกเพิ่มขึ้น