ไทยผงาดเวที OECD พร้อมเป็นสมาชิกในอนาคต ย้ำหนุนการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน

30 ต.ค. 2566 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 11:39 น.

“สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม OECD ย้ำนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยงระหว่าง OECD-อาเซียน รวมทั้งความพร้อมของไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต เพื่อยกระดับขีดความสามารถของไทยในระยะยาว 

 

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม การประชุมระดับรัฐมนตรี OECD Southeast Asia Ministerial Forum ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นเวทีหารือระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อเร็วๆนี้ นอกจากจะใช้เวทีดังกล่าวนำเสนอนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนของไทยแล้ว ยังแสดงการเตรียมความพร้อมของไทย ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคตเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวอีกด้วย  

ในการเป็นผู้นำเวทีหารือในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนของโลก: ศักยภาพใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Global investment trends: new potential for sustainable and quality investment in Southeast Asia) นายสีหศักดิ์ได้ใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งการลงทุนที่เน้นการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนในภูมิภาค เช่น ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเงินที่ยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้มีความยั่งยืน

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี OECD Southeast Asia Ministerial Forum ประจำปี 2566 ที่เวียดนาม

 

ปาฐกถา “ทิศทางการลงทุนของโลก: ศักยภาพใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้แก่

  • เน้นย้ำบทบาทของไทยในการส่งเสริมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับอาเซียน พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยังแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า ไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต 
  • นำเสนอแนวทางความร่วมมือด้านนโยบายกับ OECD หรือ joint policy actions เรื่องนี้ใน 3 ระดับ

1) ระดับทวิภาคี ความร่วมมือต้องเป็นไปตามความพร้อมและความต้องการของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเรื่อง Investment Policy Review 2021 ของไทย ซึ่งชี้ว่าไทยควรส่งเสริมเรื่อง green growth policy และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต ดังนั้น จึงควรเน้นความร่วมมือเรื่อง (1) การสนับสนุนเชิงนโยบายเกี่ยวกับเครื่องมือและกลไกที่จะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่น เรื่องคาร์บอนเครดิต เครื่องมือทางภาษี หรือมาตรการเช่น CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) (2) การยกระดับกรอบนโยบายเรื่อง green technology และ regulatory standards

2) ระดับภูมิภาค ควรเน้นสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคให้มีความยั่งยืน (greening intra-regional supply chains) ยกตัวอย่าง อาเซียนมีศักยภาพ มีการลงทุนภายในภูมิภาค (intra-regional investment) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีไทยเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนสำคัญในภูมิภาค หากสามารถยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ของอาเซียนให้มีความยั่งยืน และเชื่อมโยงกับตลาดและซัพพลายเชนของ OECD ผ่านการยกระดับมาตรฐานซัพพลายเชนของอาเซียนให้ยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่อง Responsible Business Conduct (RBC หรือการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ) และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน(sustainable infrastructure) โดยการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของ OECD  ก็จะช่วยเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุน ตลอดจนการเข้าถึงตลาดและห่วงโซ่อุปทานของสมาชิก OECD ได้ด้วย

3) ระดับโลก สนับสนุนวาระ green financing เป็นเครื่องมือส่งเสริมความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการลงทุนและเสถียรภาพทางการเงินการคลังในระดับระหว่างประเทศ โดยนำเสนอว่าควรมีการส่งเสริมเรื่องต่างๆ ดังนี้ (1) การใช้ประโยชน์จากเงินทุนของภาคเอกชน ในเรื่องการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและธุรกิจที่ยั่งยืน (2) เพิ่มความร่วมมือเรื่องภาษี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนได้ (เพิ่มเติมจากเรื่อง green financing ทั้งนี้ OECD มีบทบาทและความเชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบนโยบายภาษี เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม น่าจะสามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนได้มากขึ้น) ทั้งนี้ สามารถใช้กรอบ/เอกสารที่มีอยู่แล้ว เช่น OECD Strategic Framework for the Indo-Pacific และ Bangkok Goals on BCG ซึ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน เป็นแนวทางได้

ไทยผงาดเวที OECD พร้อมเป็นสมาชิกในอนาคต ย้ำหนุนการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ไทยกับ OECD

ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) การสานต่อและยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยในอนาคต

ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 38 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 42% ของจีดีพีโลก (ปี 2022) จำนวนประชากรรวมมากกว่า 1,400 ล้านคน และมีประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแนวปฏิบัติและมาตรฐานด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา และธรรมาภิบาลของโลก ตามวิสัยทัศน์ “นโยบายที่ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”

ปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือกับ OECD ภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 2 เน้นด้านการประกอบธุรกิจ การลงทุน การส่งเสริมความยั่งยืน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล นโยบายการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านนโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ไทยมีความร่วมมือกับ OECD ภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 2

ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว สร้างเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยทุกขนาด ให้ยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้