กัมพูชาเปลี่ยนผู้นำ ส่องไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นสิงหาคมนี้

02 ส.ค. 2566 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 14:04 น.

กัมพูชากำลังจะผลัดเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ โดยสมเด็จฮุน เซน เตรียมส่งมอบอำนาจ ให้พลเอกฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในวันที่ 10 สิงหาคม ต่อไปนี้เป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

กัมพูชา จัดให้มี การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ส่อแววชนะแบบลอยลำตั้งแต่ต้นเนื่องจากพรรคฝ่ายค้านสำคัญโดนตัดสิทธิ์ลงแข่งขัน เหลือเพียงพรรคเล็กพรรคน้อยยิบย่อยเข้าร่วมการเลือกตั้งเพียง 17 พรรค หลังจากนั้น วันพุธที่ 26 ก.ค. สมเด็จ ฮุนเซน ก็ประกาศว่า เขาพร้อมก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมายาวนานกว่า 38 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ปกครองประเทศยาวนานที่สุดคนหนึ่งของโลก และจะส่งมอบอำนาจให้กับ พลเอกฮุน มาเนต บุตรชายคนโตที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ เป็นนายกฯคนต่อไปในเดือนสิงหาคมนี้

และนี่คือ ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใน กระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ของกัมพูชา

สมเด็จฮุน เซน

1 สิงหาคม 2566  

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กัมพูชา แถลงข่าวการนับคะแนนการเลือกตั้งซึ่งยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ จนถึงขณะนี้ (ณ วันที่แถลง) พบบัตรเสียเป็นจำนวน 440,000 ใบ หากเทียบกับบัตรที่ลงคะแนนทั้งหมด 8,200,000 ใบ เท่ากับว่าจะมีบัตรเสียคิดเป็น 5.36% หรือคิดเป็นสัดส่วนบัตรเสีย 1 ใบ ต่อบัตรที่ลงคะแนนทุกๆ 18 ใบ

ทั้งนี้ ทางการกัมพูชาได้คาดโทษไว้ว่า การทำบัตรเสียหรือรณรงค์ให้ผู้ใดก็ตามกาบัตรเสีย จะได้รับการลงโทษอย่างหนัก

สถิติเบื้องต้นชี้ว่า การเลือกตั้งเมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนมาลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงถึงเกือบๆ 85% (หรือประมาณ 9.7 ล้านคนจากประชากร 16 ล้านคนของกัมพูชา) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง

โดยพรรค CPP ของสมเด็จฮุน เซน ได้รับคะแนนเลือกตั้งคิดเป็น 80% ของจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด และกวาด 120 ที่นั่งจาก 125 ที่นั่งในสภา

เจ้าหน้าที่ กกต. ระบุว่า จำนวนบัตรเสียครั้งนี้มีน้อยกว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่หน่วยงานรัฐมีการสั่งยุบพรรคฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน และครั้งนั้นพรรค CPP กวาดที่นั่งทั้งหมดในสภา 125 ที่นั่ง

  การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2566 (ภาพข่าวขแมร์ไทมส์)

4 สิงหาคม 2566

เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาจะประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไป “อย่างเป็นทางการ”

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งชั่วคราว ณ วันที่ 1 ส.ค.ชี้ว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้คะแนนเสียง 6,398,311 คะแนน จากจำนวนคะแนนทั้งหมดที่นับไป 7,774,276 คะแนน ขณะที่พรรคฟุนซินเปคที่เดิมเคยยิ่งใหญ่แต่กลายเป็นพรรคเล็กในปัจจุบัน ได้คะแนนเพียง 716,490 คะแนน

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงหลังการเลือกตั้งในกัมพูชา 1 วัน (24 ก.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐ"ไม่สบายใจ" ต่อการเลือกตั้งในกัมพูชา ซึ่งพรรค CPP ของนายกฯฮุน เซน กวาดชัยชนะแบบไร้คู่แข่ง ถือเป็นการเลือกตั้งที่"ไม่เป็นอิสระและไม่ยุติธรรม"

"ก่อนการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจในกัมพูชาใช้วิธีข่มขู่และละเมิดสิทธินักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สื่อมวลชน และกลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณแห่งรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีที่กัมพูชามีต่อประชาคมโลก" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าว และว่า ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงตัดสินใจใช้มาตรการจำกัดการออกวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่กัมพูชาบางคนที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย รวมทั้งระงับโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศบางโครงการด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาที่นำโดยพรรค CPP ถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานหลายปีจากกลุ่มฝ่ายค้านและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ว่าทำการปราบปรามผู้เห็นต่างและฝ่ายค้านไปพร้อม ๆ กับการกดปราบสถาบันทางด้านประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาดังกล่าว

ในวัย 71 ปี สมเด็จฮุน เซน ตัดสินใจส่งมอบตำแหน่งนายกฯให้บุตรชาย

5 สิงหาคม 2566

5 สิงหาคมปีนี้เป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 71 ของสมเด็จ ฮุนเซน ผู้ซึ่งมีวันเกิดตรงกับวันที่ 5 สิงหาคม 2495

ก่อนหน้านี้ เขาเคยใช้วันที่ 4 เมษายนเป็นวันเกิด แต่เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 สมเด็จฮุน เซนประกาศว่า เขาตัดสินใจจะเปลี่ยนวันเกิดทางการของเขามาเป็นวันเกิดตามจริง คือวันที่ 5 สิงหาคม 2495 ซึ่งเป็นนักษัตรมังกร

ฮุน เซนระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เขาใช้วันเกิดผิดมานานหลายสิบปี เป็นเพราะข้อผิดพลาดทางการบริหาร 

สมเด็จฮุน เซน ซึ่งปกครองกัมพูชามากว่า 38 ปี ปฏิเสธที่จะทำตามความต้องการของชาติตะวันตกเกี่ยวกับการทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสและน่าเชื่อถือ เขาเคยกล่าวว่า การปูทางสู่อำนาจให้แก่บุตรชายของเขาไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่ความสำเร็จของพลเอกฮุน มาเนต เท่าที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นผลผลิตจากการศึกษาและการฝึกฝน ไม่ใช่เพราะเขาเป็นลูกชายนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน ยังปัดคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเกื้อหนุนเครือญาติในแวดวงการเมืองกัมพูชาด้วย

สื่อเคยถามว่า เขาจะครองอำนาจต่อไปอีกยาวนานแค่ไหน ในครั้งนั้นฮุน เซน ตอบว่า เขาจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศไปจนกว่าจะรู้สึกว่าสมควรจะหยุด และถ้าหากจะมีใครกล่าวหาว่าเขากำลังพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการสร้างตระกูลการเมืองเพื่อดันบุตรชายตนเองขึ้นเป็นผู้นำ เขาก็อ้างว่า ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีตระกูลการเมืองเช่นกัน อย่างเช่นตระกูล "อาเบะ" ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาหลายชั่วอายุคน

ล่าสุดในการให้สัมภาษณ์กับสื่อฟีนิกซ์ ทีวี ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ฮุน เซน กล่าวชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า “ในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า ฮุน มาเนต จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสามารถทำได้หรือไม่” ในการแถลงข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์เขายังระบุว่า

“ผมได้เข้าเฝ้ากษัตริย์(กษัตริย์นโรดม สีหมุนี) และประกาศว่าผมจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป” และว่า “ผมจำต้องเสียสละและสละอำนาจไป” พร้อมกับส่งมอบอำนาจต่อให้กับฮุน มาเนตบุตรชายโดยกล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปิดทางให้กับผู้นำซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่

พลเอกฮุน มาเนต จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชาในวันที่ 10 สิงหาคม 2566

10 สิงหาคม 2566

พลเอกฮุน มาเนต จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา

ฮุน มาเนต เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จฮุน เซน กับนางบุญรานี เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 2542 และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ เขาเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรครัฐบาลกัมพูชาในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังการประกาศแต่งตั้งพลเอก ฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 สิงหาคมแล้ว  เขาจะปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของกัมพูชาในวันที่ 22 สิงหาคมนี้