ติ๊กต็อก (TikTok) จ่อลงทุนนับพันล้านกระตุ้นอีคอมเมิร์ซอาเซียน

18 มิ.ย. 2566 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 11:05 น.

ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันคลิปวีดีโอสั้นยอดนิยม ประกาศแผน เตรียมลงทุนนับพันล้านกระตุ้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน

 

แอปพลิเคชั่นยอดนิยม "ติ๊กต็อก" (TikTok) ของ บริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากประเทศจีน ประกาศเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทจะเดินหน้าลงทุนเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านดอลลาร์ใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามแผนงานยกระดับการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ ท่ามกลางการจับตาจากทั่วโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูลของแอปติ๊กต็อก โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันราว 630 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง มีอายุไม่ถึง 30 ปี นับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของติ๊กต็อก ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน โดยมีจำนวนผู้ชมชมคลิปวิดีโอสั้นผ่านแอปติ๊กต็อกในภูมิภาคอาเซียนถึงเดือนละกว่า 325 ล้านคน

โจว โช่วจือ ซีอีโอติ๊กต็อก ขึ้นเวทีงานสัมมนาในอินโดนีเซียเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี รอยเตอร์ชี้ว่า ติ๊กตอกยังไม่สามารถแปลงฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่นี้ให้กลายมาเป็นแหล่งรายได้สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันอันดุเดือดจากคู่แข่งรายใหญ่ เช่น ช้อปปี้ (Shoppee) อาลีบาบา (Alibaba) และลาซาด้า (Lazada) รวมทั้ง โทโกพิเดีย (Tokopedia)

โจว โช่วจือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของติ๊กต็อก กล่าวระหว่างการร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะว่าด้วยผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของแอปยอดนิยมนี้ในภูมิภาคอาเซียน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เขาระบุว่า “เราจะลงทุนเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้”

ทั้งนี้ ซีอีโอของติ๊กต็อกไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแผนการใช้จ่ายด้านการลงทุนดังกล่าว เพียงแต่แย้มว่า จะเป็นการลงทุนในส่วนงานอบรม โฆษณา และการสนับสนุนผู้ค้ารายย่อยที่กำลังเตรียมเข้าร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีชื่อว่า “ติ๊กต็อก ช็อป” (TikTok Shop)

นายโจว กล่าวด้วยว่า เนื้อหาบนแพลตฟอร์มนี้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม จากการที่บริษัทเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเรื่อย ๆ และปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้เป็นมากกว่าการลงโฆษณาโดยขยายไปยังส่วนอีคอมเมิร์ซ ด้วยการเปิดทางให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าผ่านลิงค์ในแอปที่ปรากฏขึ้นระหว่างการสตรีมมิ่งสดได้

ซีอีโอติ๊กตอกยังเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานอยู่ในอาเซียนราว 8,000 คน และมีผู้ค้ารายย่อยราว 2 ล้านคนขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มนี้ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

มูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนในปีที่แล้ว (2565) อยู่ที่เกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจโมเมนตัม เวิร์ค (Momentum Works) ระบุว่า มูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนในปีที่แล้วอยู่ที่เกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ โดยราว 52,000 ล้านดอลลาร์นั้นมาจากอินโดนีเซีย

รอยเตอร์ระบุว่า ติ๊กต็อกประกาศแผนขยายการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ ขณะที่บริษัท ไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่กำลังตกเป็นเป้าการตรวจสอบจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับกิจการของหลายประเทศ เนื่องจากประเด็นความกังวลที่ว่า รัฐบาลจีนอาจใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อก เป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานหรือเพื่อประโยชน์ของตน แม้ผู้บริหารของติ๊กตอกจะปฏิเสธอย่างต่อเนื่องว่า บริษัทไม่เคยแบ่งปันหรือส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน และจะไม่มีวันทำเช่นนั้นแม้จะถูกร้องขอก็ตาม

ที่ผ่านมา มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ สั่งห้ามการใช้แอปนี้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของราชการแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรัฐบาลในอาเซียนที่สั่งห้ามการใช้แอปนี้บนอุปกรณ์ของราชการ แต่ก็มีการตรวจสอบเนื้อหาอยู่บ้าง

ข้อมูลอ้างอิง