พกพากัญชาเข้าสิงคโปร์ โทษถึงประหาร แขวนคอแล้ว 2คนใน 3สัปดาห์

19 พ.ค. 2566 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2566 | 08:38 น.

วันพุธที่ผ่านมา (17 พ.ค.) สิงคโปร์แขวนคอนักโทษคดีลอบขนกัญชาเข้าประเทศเป็นคนที่ 2 แล้วในรอบ 3 สัปดาห์ โดยกัญชาที่จับกุมได้ในคดีปริมาณ 1.5 กก.

 

วันพุธที่ผ่านมา (17 พ.ค.) สิงคโปร์ ประหารชีวิตนักโทษ คดีลักลอบขนกัญชาเข้าประเทศ เป็นคนที่ 2 แล้วในรอบ 3 สัปดาห์ โดย กัญชา ที่จับกุมได้ในคดีปริมาณ 1.5 กก.

สิงคโปร์เอาจริงและจัดโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต สำหรับการลักลอบขนกัญชาเข้าประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 พ.ค.) ได้มีการประหารชีวิตนักโทษคนที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ จากคดีลักลอบขนกัญชาเข้าประเทศสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีกระแสการเรียกร้องขอให้รัฐบาลระงับโทษประหารชีวิตสำหรับผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดก็ตาม

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ชายวัย 37 ปีได้ถูกประหารชีวิตเมื่อวันพุธ (17 พ.ค.) ด้วยการแขวนคอ หลังจากที่ศาลสิงคโปร์ปฏิเสธการอุทธรณ์ของผู้ต้องหารายนี้ เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปีก่อนที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562)จากคดีที่เขาลักลอบขนกัญชา 1.5 กิโลกรัมเข้ามาในสิงคโปร์

ด้านโกกิลา อันนามาไล แห่งองค์กร Transformative Justice Collective ซึ่งสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า นักโทษผู้นี้พยายามขอให้ศาลเปิดการพิจารณษคดีของเขาใหม่อีกครั้งเนื่องจากพบหลักฐานดีเอ็นเอและลายนิ้วมือที่เชื่อมโยงเขากับกัญชาที่มีปริมาณน้อยกว่าที่เขาถูกตัดสินเอาผิด แต่ศาลปฏิเสธที่จะเปิดการพิจารณาใหม่

ภายใต้กฎหมายสิงคโปร์นั้น ผู้ที่ลักลอบขนส่งกัญชามากกว่า 500 กรัมเข้าประเทศ อาจต้องโทษถึงประหารชีวิต

รายงานข่าวระบุในปี 2565 สิงคโปร์ประหารชีวิตนักโทษ 11 คนในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด หลังจากระงับไป2 ปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยขณะนี้มีนักโทษในสิงคโปร์ที่รอการประหารอีกราว 60 คน ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดทั้งสิ้น

เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน นายทังการาจู ซัปปิอาห์ ชายชาวสิงคโปร์วัย 46 ปี ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเป็นคนแรกของปี 2566 นี้ จากคดีลักลอบขนส่งกัญชามากกว่า 1 กก.

ผู้ที่ลักลอบขนส่งกัญชามากกว่า 500 กรัมเข้าประเทศสิงคโปร์ อาจต้องโทษถึงประหารชีวิต

ทั้งนี้ บรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ และสหประชาชาติ พยายามเรียกร้องให้สิงคโปร์ยกเลิกโทษประหารในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด หลังจากมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าการประหารชีวิตไม่ได้ช่วยทำให้การกระทำผิดในคดีดังกล่าวลดลงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจในสิงคโปร์ยืนยันว่าโทษประหารเป็นสิ่งจำเป็นในยุทธศาสตร์การป้องกันอันตรายต่อสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดและการกระทำความผิดร้ายแรงต่าง ๆ

นอกจากสิงคโปร์แล้ว องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ Amnesty International ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้โทษประหารอย่างแพร่หลาย โดยเมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียประหารชีวิตนักโทษในคดียาเสพติดถึง 112 คนในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เพิ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดร้ายแรง ส่วนไทยได้ทำให้กัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในประเทศแล้ว