รายงานชิ้นดังกล่าว ขอให้ผู้มีอำนาจใน สหภาพยุโรป(อียู) มุ่งเน้นพัฒนา คุณภาพอากาศ รอบสถานศึกษาและสถานดูแลเด็กเล็ก รวมถึง สถานที่ออกกำลังกายและระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ
ข้อมูลจาก สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป หรือ อีอีเอ (European Environmental Agency) ที่เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ (24 เม.ย.) ระบุว่า มลภาวะทางอากาศทำให้มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีในยุโรป ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 1,200 คนต่อปี และสถานการณ์ดังกล่าวยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาวด้วย
รายงานของอีอีเอชี้ว่า ระดับมลภาวะทางอากาศในหลายประเทศของยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO) โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกตอนกลาง และอิตาลี
การสำรวจมลภาวะทางอากาศใน 30 ประเทศของยุโรปครั้งนี้ ไม่ได้รวม รัสเซีย ยูเครน และอังกฤษ ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงมากกว่านี้
รายละเอียดของรายงานยังระบุด้วยว่า มลภาวะทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ตั้งแต่โรคหอบหืด การทำงานของปอดบกพร่อง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไปจนถึงโรคภูมิแพ้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา (2565) อีอีเอประกาศว่า มีเยาวชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลภาวะทางอากาศจำนวนรวม 238,000 คนในปี 2020 (พ.ศ.2563) ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมทั้งไอซ์แลนด์ ลิกเทนสไตน์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี
รายงานชิ้นนี้ขอให้ผู้มีอำนาจในอียูมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพอากาศรอบสถานศึกษาและสถานดูแลเด็กเล็ก รวมถึง สถานที่ออกกำลังกายและระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า สถานการณ์ของคุณภาพอากาศในยุโรปนั้น ที่ว่าแย่แล้วแต่ก็ยังคงดีกว่าอีกหลายภูมิภาคของโลก
WHO เผยว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศทั่วโลกราว 7 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการสูบบุหรี่ หรือ จากภาวะทุพโภชนาการ
นอกจากนี้ WHO ยังระบุถึงประเทศไทย ซึ่งปัญหามลภาวะทางอากาศปกคลุมหลายพื้นที่ของประเทศ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีประชาชนต้องเข้ารับการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับอากาศสกปรกแล้วจำนวนถึง 2.4 ล้านคนนับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา