2 ขั้วอำนาจรุมจีบอาเซียน จีนซ้อมรบสิงคโปร์ เรือรบสหรัฐกระชับมิตรไทย

25 เม.ย. 2566 | 02:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 06:12 น.
1.8 k

สัปดาห์แห่งการคานอำนาจเริ่มขึ้นแล้ว จีนประกาศซ้อมรบร่วมกับสิงคโปร์ครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมกองเรือ ทอดสมอเยือนไทย 1 สัปดาห์เช่นกัน

จีน และ สิงคโปร์ จะจัด การซ้อมรบ ด้วยกันในสัปดาห์นี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี2564 โดยจีนหวังกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงกับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับ สหรัฐอเมริกา

กระทรวงกลาโหมจีนแถลงบนเว็บไซต์เมื่อวันจันทร์ (24 เม.ย.) ระบุว่า กองทัพเรือจีนจะส่งเรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถีหยูหลิน (Yulin) และเรือต่อต้านทุ่นระเบิดชื่อปี้ (Chibi) เข้าร่วมกับ “การซ้อมรบทางทะเล” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย. ไปจนถึงต้นเดือนพ.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการซ้อมรบจะจัดขึ้นที่บริเวณใด

เรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถีหยูหลิน (Yulin) ของทัพเรือจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จีนและสิงคโปร์เคยจัดการซ้อมรบร่วมมาแล้วในน่านน้ำสากลทางตอนใต้สุดของทะเลจีนใต้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่าย มีการปรับยกระดับสนธิสัญญาทวิภาคีด้านกลาโหมเมื่อปี 2562 เพื่อให้สามารถดำเนินการซ้อมรบร่วมในขนาดที่ใหญ่ขึ้นใน 3 เหล่าทัพ ทั้งระหว่างกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

ความร่วมมือทางการทหารที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างจีนกับสิงคโปร์นี้ มีขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยกองทัพเรือของชาติตะวันตกมักจะแล่นผ่านน่านน้ำแห่งนี้ รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่อ้างการปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operation) แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับจีน ผู้อ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมดเหนือทะเลจีนใต้ แม้ว่านานาชาติจะตัดสินไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม

การยกระดับกิจกรรมทางทหารของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะขยายอิทธิพลแข่งกับสหรัฐ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ภายในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

แต่ขณะที่จีนพยายามกระชับสัมพันธ์กับอาเซียนเพื่อขยายอิทธิพลคานอำนาจสหรัฐอยู่นั้น ฝ่ายสหรัฐเองก็ไม่เคยละความพยายาม (อาจจะแผ่วๆไปบ้างในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ที่จะแสดงตัวเองว่าเป็นมหามิตรอันยาวนานของภูมิภาคนี้

ในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว (2565) กองทัพสหรัฐได้เปิดการซ้อมรบร่วมขนาดใหญ่กับอินโดนีเซียภายใต้รหัส Super Garuda Shield (ซูเปอร์ การูดา ชีลด์)โดยมีประเทศรอบข้างอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน กองทัพอากาศจีนก็ได้ส่งฝูงบินขับไล่มาร่วมซ้อมรบกับไทยภายใต้รหัส Falcon Strike (ฟอลคอน สไตรค์) แบบเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่แพ้กัน โดยทั้งจีนและไทยต่างยืนยันว่า การฝึกร่วมทางอากาศใกล้กับชายแดนลาวในครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกซ้อมป้องกันตนเอง

มาถึงปีนี้ ณ เวลานี้ ก็เป็นอีกครั้งที่จีนและสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายไม่ได้ลดราวาศอกในการเข้ามาคานอำนาจในภูมิภาคอาเซียน

เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิทซ์ (USS Nimitz) ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบใหญ่ที่สุดลำหนึ่งของโลก (ภาพข่าวเอเอฟพี)

โดยขณะที่กองทัพจีนประกาศซ้อมรบร่วมกับสิงคโปร์ราว 1 สัปดาห์เมื่อวันจันทร์ (24 เม.ย.) ในวันเดียวกันนั้น เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิทซ์ (USS Nimitz) และกองเรือจู่โจมของกองทัพเรือสหรัฐก็เดินทางถึงประเทศไทยเพื่อภารกิจการเยือนกระชับมิตรเป็นเวลา 1 สัปดาห์เช่นกัน

สำนักข่าว เรดิโอ ฟรี เอเชีย รายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบินและกองเรือของสหรัฐเพิ่งเดินทางข้ามทะเลจีนใต้และหันหัวกลับในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ MarineTraffic แสดงให้เห็น เรือยูเอสเอส นิมิทซ์ ส่งสัญญาณระบบแจ้งตัวตนอัตโนมัติ หรือ เอไอเอส (automatic identification system) เมื่อเวลา 21:30 น. ของวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) ตามเวลาสากลระหว่างอยู่ในเขตน่านน้ำของไทย ก่อนที่จะเดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบังในอีก 3 ชั่วโมงต่อมา

ขณะเดียวกัน ข้อมูลข่าวกรองจากแหล่งข่าวระบุว่า เรือยูเอสเอส นิมิทซ์ ได้หันหัวกลับในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามเมื่อวันเสาร์(22 เม.ย.) และมุ่งตรงไปยังประเทศไทย โดยที่ยังไม่ทราบจุดประสงค์ที่ชัดเจน แต่มีรายงานวิเคราะห์อ้างอิงจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมว่า จุดที่หันหัวกลับนั้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเวียดนาม และส่วนที่เรียกว่า แวนการ์ด แบงค์ (Vanguard Bank) ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีน

เกี่ยวกับการเยือนครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมีแถลงการณ์ว่า เรือยูเอสเอส นิมิทซ์ จะจอดเทียบที่ไทยตั้งแต่วันที่ 24 - 29 เมษายน 2566 เพื่อสร้าง "โอกาสในการกระชับความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐ - ไทย และสร้างความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร

โดยระหว่างที่อยู่ในไทย เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับ "การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐกับไทย"ด้วย

เรือลาดตระเวนติดจรวดนำวิถี ยูเอสเอส บังเกอร์ ฮิลล์ (USS Bunker Hill)

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ ยังรายงานด้วยว่า นอกจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิทซ์ แล้ว กองเรือจู่โจมที่ร่วมเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ยังประกอบด้วย เรือลาดตระเวนติดจรวดนำวิถี ยูเอสเอส บังเกอร์ ฮิลล์ (USS Bunker Hill) รวมทั้งเรือพิฆาตติดจรวดนำวิถี ยูเอสเอส เดอคาทัวร์ (USS Decatur) และยูเอสเอส เวย์น อี. ไมเยอร์ (USS Wayne E. Meyer) โดยมีพลเรือตรี คริสโตเฟอร์ สวีนนีย์ เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือ

ก่อนหน้านี้ เรือยูเอสเอส นิมิทซ์ และกองเรือจู่โจม เข้าร่วมในการซ้อมรบทางทะเลกับกองทัพญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในทะเลจีนตะวันออก เมื่อวันที่ 3-4 เมษายนที่ผ่านมา ตามข้อมูลของกองทัพเรือสหรัฐ หลังจากนั้นมีรายงานการพบเห็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้บริเวณน่านน้ำทางตะวันออกของไต้หวัน ในช่วงเวลาเดียวกับที่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีน “ชานตง” (Shandong) กำลังซ้อมรบในบริเวณเดียวกัน

ทั้งนี้ จีนเริ่มการซ้อมรบทางทะเลครั้งล่าสุดหลังจากที่นางไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน แวะเยือนสหรัฐ เมื่อวันที่ 5 เมษายน และพบปะกับนายเควิน แมคคาร์ธีย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างความไม่พอใจให้กับจีนและมีการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเป็นการตอบโต้ในเวลาต่อมา

เห็นได้ชัดว่า การร่วมซ้อมรบระหว่างจีนกับสิงคโปร์ในห้วงสัปดาห์นี้ ถูกสหรัฐคานอำนาจและ “แย่งซีน” ด้วยการจัดหนักขนเรือรบมาโชว์ในน่านน้ำไทยแบบเต็มพิกัด เฉพาะเรือยูเอสเอส นิมิทซ์ ที่แล่นฉิวนำมาก็ไม่ธรรมดาแล้ว เพราะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเรือรบขนาด “ใหญ่ที่สุดในโลก” ด้วยระวางมากกว่า 100,000 ตัน สามารถบรรทุกเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ได้ถึง 90 ลำ และมีเจ้าหน้าที่ประจำการราว 6,000 คน ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อน

แค่ปรากฏตัวในน่านน้ำก็น่าตื่นตะลึงแล้ว เมื่อแถมด้วยกองเรือจู่โจมประกบมาแบบจัดเต็มอัตรา แม้จะระบุว่าเป็นการเข้าเยี่ยมท่าเรือของภาคีและพันธมิตรหลายแห่งทั่วภูมิภาคตามปกติ และเพื่อฉลองวาระครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐฯ-ไทย แต่งานนี้ พลเรือตรี คริสโตเฟอร์ สวีนนีย์ ผู้บังคับบัญชากองเรือ เหมือนจะเอ่ยฝากถึงใครแบบไม่ต้องเอ่ยนามว่า “เรามาที่นี่ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรในภูมิภาคนี้ว่า สหรัฐยึดมั่นไม่เสื่อมคลายในพันธกิจที่จะสร้างความสงบเรียบร้อยบนพื้นฐานของกฎกติกาอันเป็นสากล แต่ยังมาเพื่อร่วมมือเคียงบ่าเคียงไหล่กับพันธมิตรด้วยแนวคิดที่เรามีร่วมกันเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี กองเรือจู่โจมของเราพร้อมที่ตอบโต้พฤติกรรมเชิงขู่บังคับของใครก็ตามที่คิดจะสั่นคลอนความมั่นคงของภูมิภาคนี้”