สิงคโปร์ส่งออกลดลงติดต่อกัน 6 เดือน ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

17 เม.ย. 2566 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2566 | 14:59 น.

สัญญาณไม่ค่อยดีสำหรับเศรษฐกิจสิงคโปร์ หลังยอดส่งออกลดลงติดต่อกัน 6 เดือน ส่อแนวโน้มว่าอาจจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 

องค์การวิสาหกิจของสิงคโปร์ (Enterprise Singapore) เปิดเผยวันนี้ (17 เม.ย.) ว่า ยอดส่งออก สินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศยกเว้นน้ำมัน (Nodx) เดือนมี.ค. ปรับตัวลดลง 8.3% เมื่อเทียบรายปี แม้จะน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าและน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

นักเศรษฐศาสตร์จากผลการสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกเดือนมี.ค.ของสิงคโปร์ จะร่วงลง 20.8% หลังจากที่ปรับตัวลดลง 15.8% ในเดือนก.พ.2566

ทั้งนี้ ยอดส่งออกของสิงคโปร์ หากเทียบเป็นรายเดือน ยอดส่งออกเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 18.4% ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเพียง 1.7% อย่างไรก็ตาม หากเทียบเป็นรายปี ยอดส่งออกเดือนมี.ค.ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 4/2565 ที่มีการขยายตัว 2.1%

เศรษฐกิจสิงคโปร์กำลังชะลอตัว

ข้อมูล GDP ที่อ่อนแอส่งผลให้ธนาคารกลางสิงคโปร์มีมติคงนโยบายการเงินเมื่อวันศุกร์ (14 เม.ย.) ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าธนาคารกลางจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน

โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER)

ส่วนการดำเนินการในวันที่ 14 เม.ย.นั้น ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ตัดสินใจคงความชัน, ค่ากลาง และความกว้างของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ที่ระดับเดิม