รู้จักธนาคาร “เครดิตสวิส” ต้นตอของวิกฤต และการเทคโอเวอร์

20 มี.ค. 2566 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 07:24 น.
661

เครดิตสวิส (Credit Suisse) ธนาคารเก่าแก่กว่าร้อยปีของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ถูกเทคโอเวอร์โดยธนาคาร "ยูบีเอส" ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยความสนับสนุนของรัฐบาลสวิส เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า แบงก์ใหญ่รายนี้ใหญ่เกินกว่าที่จะถูกปล่อยให้ล้ม

 

เครดิตสวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่อายุ 167 ปีและเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับสองของ สวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นธนาคารใหญ่รายล่าสุดและใหญ่สุดที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด หลังจากเกิดวิกฤตการเงินกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ปัญหาสภาพคล่อง ล่าสุดทำให้เครดิตสวิส ต้องขอกู้เงิน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และนำไปสู่กระบวนการเจรจาซื้อขายกิจการซึ่งทำให้เครดิตสวิสถูก เทคโอเวอร์ โดย ธนาคารยูบีเอส ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ไปในที่สุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ธนาคารเครดิตสวิส ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1856 โดยครั้งนั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาระบบรางและสร้างโครงข่ายไฟฟ้าของสวิตเซอร์แลนด์รวมถึงระบบรถไฟในยุโรป จากนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1900 ธนาคารเครดิตสวิสได้เริ่มเปลี่ยนไปใช้ระบบธนาคารมากขึ้นเพื่อตอบสนองนักลงทุนชนชั้นกลาง

สำนักงานใหญ่ของธนาคารตั้งอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานสาขากระจายอยู่ในศูนย์กลางการเงินทุกแห่งทั่วโลก เครดิตสวิสถือเป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการเงินโลก มีสำนักงานมากกว่า 150 แห่งในราว 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย สิงคโปร์ และไทย โดยมีพนักงานรวมกันมากกว่า 45,000 คน (สำหรับประเทศไทย เครดิต สวิสมีการดำเนินงานผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด)

เครดิตสวิส เป็นธนาคารเก่าแก่อายุ 167 ปีและเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เครดิตสวิสเริ่มประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ต่อเนื่องมาปี 2016 สาเหตุมาจากการตัดหนี้สูญของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เป็นผลพวงมาจากวิกฤตซับไพร์ (subprime) ในปี 2008 และวิกฤตหนี้ยุโรปในปี 2009

ขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังเกิดกรณีการล้มลายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ “อาร์คีกอส แคปิตอล” (Archegos Capital) ซึ่งเครดิต สวิส ได้ร่วมปล่อยกู้ให้กับกองทุนประกันความเสี่ยงรายนี้ไปลงทุน แต่กลับประสบปัญหาขาดทุนหนัก จนกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร

ในไตรมาส 4/2022  ธนาคารเครดิตสวิสขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิส ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส และเกิดเหตุการณ์ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิส นับเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของทางธนาคารอีกครั้งหนึ่ง

จากรายงานผลประกอบการล่าสุด ทางธนาคารเตือนบรรดาผู้ถือหุ้นว่า ประเมินแล้วไม่คิดว่าจะสร้างกำไรได้จนถึงปี 2024 โดยหุ้นของธนาคารได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สัปดาห์ที่ผ่านมา

การประกาศยอมรับของทางธนาคารเครดิตสวิสถึงสถานการณ์ภายในที่เป็นปัญหาในรายงานทางการเงิน ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และทำให้นักลงทุนรายใหญ่ อย่างธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ประกาศจะไม่อัดฉีดเงินทุนให้เครดิตสวิสมากไปกว่านี้ ทำให้หุ้นของเครดิตสวิสร่วงลงถึง 24% เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา และสร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินหวั่นจะเกิดการล้มลุกลามเหมือนในสหรัฐ

หุ้นของเครดิตสวิสร่วงลงถึง 24% เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา และสร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินหวั่นจะเกิดการล้มลุกลามเหมือนในสหรัฐ

“วิกฤตธนาคารมาจากอเมริกา ตอนนี้ คนกำลังดูว่าสถานการณ์จะก่อให้เกิดปัญหาทั่วยุโรปหรือไม่” โรเบิร์ก ฮัลเวอร์ หัวหน้าด้านตลาดทุนของธนาคารบาดเดอร์ของเยอรมนี กล่าว

“ความกังวลคืออาจมีธนาคารอีกหลายแห่ง ที่นั่งทับพันธบัตรที่สูญมูลค่าไปมหาศาล แต่ทางธนาคารยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะเกิดการแห่ถอนเงิน” ซูซานนาห์ สตรีทเทอร์ หัวหน้าฝ่ายการเงินและตลาดหุนของบริษัท ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ กล่าว

มูลค่าพันธบัตรที่ลดลง หมายความว่ามีธนาคารอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงเจอปัญหาด้านเงินทุน อย่างไรก็ดี มูลค่าที่ปรับเปลี่ยนไป จะไม่ใช่ปัญหาตราบใดที่ไม่เจอแรงกดดัน อาทิ การถอนทุนของลูกค้า ที่กดดันให้ธนาคารต้องขายพันธบัตรที่สะสมไว้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารเครดิตสวิส ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์  และ  Finma ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ โดยจะกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เป็นวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (5.368 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 1.85 ล้านล้านบาท ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น

แต่หลังจากนั้น ก็มีการเจรจาเทคโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอสเมื่อสุดสัปดห์ที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ยูบีเอสยอมจ่าย 3 พันล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 1.1 แสนล้านบาทซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิส โดยขอให้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ช่วยค้ำประกัน (อ่านเพิ่มเติม: “ยูบีเอส” ตกลงเทคโอเวอร์ “เครดิตสวิส” 3 พันล้านฟรังก์  )