ยุโรปเดินหน้าแบนน้ำมันดีเซลรัสเซีย พุ่งเป้าตัดรายได้หลักรัฐบาลเครมลิน

06 ก.พ. 2566 | 08:54 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2566 | 09:08 น.

อียูสั่งแบนน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ จากรัสเซีย เดินหน้าตัดช่องทางรายได้ของรัฐบาลเครมลินที่อาจถูกนำไปใช้ในการทำสงคราม

 

สหภาพยุโรป (อียู) ขยับอีกขั้นในการกดดัน รัฐบาลมอสโก โดยล่าสุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เริ่มใช้มาตรการ สั่งแบนน้ำมันดีเซล และผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ จาก รัสเซีย นับเป็นความพยายามล่าสุดของอียูในการที่จะตัดช่องทางรายได้ของรัฐบาลรัสเซียที่อาจถูกนำไปใช้สนับสนุนการสู้รบกับยูเครน และขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามของอียูเองที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย  

ทั้งนี้ การสั่งแบนน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ จากรัสเซีย มีผลตั้งแต่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 ก.พ.) แต่ข้อยกเว้นโดยเปิดโอกาสให้รัสเซียยังสามารถขายน้ำมันดีเซลให้กับประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและอินเดียได้ ซึ่งการทำเช่นนั้น ยังถือเป็นการหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นราคาอย่างพุ่งพรวดของน้ำมันดีเซล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก แต่มาตรการนี้จะมีผลในการไปลดผลกำไรของมอสโกจากการส่งออกน้ำมัน

ความเคลื่อนไหวของอียูในครั้งนี้ เป็นการยกระดับมาตรการกดดันรัสเซียหลังจากที่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2565) ทางอียูได้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มจี7 ในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียในตลาดโลกเอาไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แม้ว่ามาตรการลงโทษรัสเซียครั้งใหม่ จะสร้างความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานเชื้อเพลิงให้กับสหภาพยุโรป(อียู) ที่จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำมันดีเซลจากสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย เพื่อทดแทนปริมาณน้ำมันดีเซลจากรัสเซีย เนื่องจากอียูเองนั้น ตลอดมาต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดของกลุ่ม

เฉพาะในเดือนธันวาคม 2565 เพียงเดือนเดียว รัสเซียมีรายได้จากการขายน้ำมันดีเซลให้ยุโรปมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หลังมีกระแสกักตุนดีเซลล่วงหน้าก่อนที่มาตรการแบนของอียูจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อียูแบนน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆจากรัสเซีย มีผล 5 ก.พ. 2566

ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์ รถบรรทุกขนส่งสินค้า อุปกรณ์การเกษตร และเครื่องจักรโรงงานต่าง ๆ

ในระยะหลัง ๆ ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการจำกัดการกลั่นน้ำมัน ซึ่งกดดันภาวะเงินเฟ้อให้พุ่งสูงทั่วโลก