รายงานของ UN ชี้ว่า ปีนี้จีดีพีโลกจะเติบโตช้าสุดในรอบหลายสิบปี

26 ม.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2566 | 14:44 น.

นักเศรษฐศาสตร์ของยูเอ็นจัดทำรายงานประมวลสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 คาดว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกจะเติบโตช้าสุดในรอบหลายทศวรรษ

 

รายงานสะท้อน ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประจำปีนี้ (2023 World Economic Situation and Prospects) จัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่า สถานการณ์ เศรษฐกิจโลก ในปีนี้ (2566) ยังคงไม่แน่นอน และคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในระดับ “ต่ำที่สุด”ในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว โดยคาดว่าจะโตเพียง 1.9% ในปีนี้ (2566) ซึ่งลดลงจากระดับ 3% ในปีที่ผ่านมา (2565)

ทั้งนี้ รายงานของยูเอ็นระบุว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึง

  • การระบาดของโควิด-19
  • สงครามยูเครน
  • เงินเฟ้อสูง
  • และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

ปัจจัยเหล่านี้ นอกจากจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงในระยะสั้นแล้ว ยังอาจคุกคามการเติบโตในระยะยาวในประเทศยากจนด้วย รายงานแนะนำว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพราะจะยิ่งสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะส่งผลต่อกลุ่มคนในสังคมที่มีความเปราะบางสูง นอกจากนี้ ยังแนะนำให้โยกย้ายงบประมาณไปยังภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานสูง และกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมได้

นายอินโก พิตเตอเล นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมของสหประชาชาติ ประเมินว่า ปริมาณการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนจะลดลงในประเทศส่วนใหญ่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและรายได้ที่ลดลง หลายประเทศจะเผชิญภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า (2567)

รายงานคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปี 2565 จะยังส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (2566) ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตลดลงในปีนี้เช่นกัน ยกเว้นเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก

 

เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 4.4%

เจาะลึกคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก

รายงานของยูเอ็นเผยว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 4.4% ซึ่งปรับตัวขึ้นจากปี 2565 ที่ประมาณการไว้ว่าอาจจะขยายตัว 3.2% แต่ยังต่ำกว่าการขยายตัว 7% ในปี 2564 ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 4.3% ในปีหน้า (2567)

ในภาพรวมนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนทั่วโลกและการเปิดประเทศที่ไม่ค่อยราบรื่นของจีน

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยความระมัดระวัง เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อสูง หนี้สินที่พอกพูน และสภาพการณ์ในต่างประเทศที่อ่อนแอลง ในขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศควบคู่ไปด้วย

รายงานแนะนำว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกควรเดินหน้ายกระดับความยืดหยุ่นระยะยาวผ่านการเพิ่มการลงทุนในทุนมนุษย์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะคาร์บอนต่ำ

การเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวจีน เป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก (ขอบคุณภาพจากแฟ้มภาพซินหัว)

การเปิดประเทศของจีนและความคาดหวังด้านการท่องเที่ยว

ในปี 2565 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังไม่คงเส้นคงวา หลายประเทศผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเหล่านั้นคลี่คลายลง ส่งผลให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวและพลิกฟื้นภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการค้าปลีกและธุรกิจบริการอื่นๆ

ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น กัมพูชา ฟิจิ และไทย ได้รับอานิสงส์จากการเดินทางระหว่างประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ของยูเอ็นคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งตรงกับปี 2558 – 2562 อย่างไรก็ตาม การที่ในระยะที่ผ่านมา จีนและฮ่องกงยึดมั่นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ได้ฉุดให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชะลอตัวเป็นวงกว้าง จึงต้องยังรอดูผลของการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของจีนที่เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนม.ค.นี้

รายงานของยูเอ็นระบุว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัว 4.8% เทียบกับที่คาดไว้ 3.0% ในปี 2565 และ 8.1% ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงปลายปี 2565 รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง

 

มองอาเซียนแข็งแรงขึ้นในปีกระต่าย

อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นจะหนุนการเติบโตของตัวเลข GDP ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยหลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้รับแรงหนุนด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวด้านการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

รายงานของยูเอ็นเตือนว่า นานาประเทศไม่ควรปล่อยให้อุปสรรคด้านการเติบโตมาหยุดยั้งความพยายามในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต และเวียดนาม ที่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศด้วยการปรับปรุงข้อเสนอในการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2564 – 2565