“วิกฤตกิมจิ” เกาหลีใต้จุกเงินเฟ้อพุ่งนำเข้าวัตถุดิบจีนแทน

25 ม.ค. 2566 | 18:31 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 18:37 น.

เกาหลีใต้ กำลังเผชิญ “วิกฤตกิมจิ” หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างหนัก ดันราคาวัตถุดิบทำกิมจิสูงขึ้น ช้ำต้องนำเข้าวัตถุดิบทำผักดองยอดฮิตจากประเทศจีนแทน

กิมจิ” นับเป็นหนึ่งในเมนูอาหารจานสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึง วัฒนธรรมการกิน อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของ ชาวเกาหลี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power อันทรงพลังที่ขยายอิทธิพลไปยังร้านอาหารทั่วโลก 

เมนูผักดองอันเลื่องชื่อนี้เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับวิวัฒนาการทางด้านอาหารและภูมิปัญหาของมนุษย์ที่ต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ด้วยการถนอมอาหาร หรือวัตถุดิบธรรมชาติเอาไว้กินในยามยาก โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์อะไรขึ้นมาได้ง่าย ๆ 

บนโต๊ะอาหารเกาหลี “กิมจิ” มักจะถูกจัดไว้เป็นเครื่องเคียงกับเมนูอาหารอื่น ๆ โดยผักที่นำมาทำเป็นกิมจินั้น ก็มีอย่างหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงแค่ผักกาดขาวที่เราเห็นอยู่เท่านั้น โดยจากเอกสารของพิพิธภัณฑ์กิมจิในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระบุข้อมูลว่า มีกิมจิอย่างน้อย 180 ชนิด ทั้ง แตงกวา หัวไชเท้า หรือต้นหอม เป็นต้น

ยอดการส่งออกกิมจิจากเกาหลี

ปัจจุบันด้วยความนิยมอาหารเกาหลีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคกิมจิ จึงขยายตัวเพิ่มตามไปด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ เปิดเผยยอดการส่งออกกิมจิไปต่างประเทศในปี 2564 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 159.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,100 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกใหญ่ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฮ่องกง ไต้หวัน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย

แต่ภายหลังเกาหลีใต้ ต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ยังคงเคลื่อนไหวที่ 5% ในเดือนธ.ค. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางเกาหลีใต้กว่า 2 เท่า

ทำให้ราคาวัตถุดิบในการทำกิมจิต้องสูงขึ้น ทั้ง กะหล่ำปลี และวัตถุดิบอื่น ๆ กดดันให้ร้านอาหารต้องนำเข้ากิมจิจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาถูกถึง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับกิมจิเกาหลีด้วย

ยอดการนำเข้ากิมจิพุ่งสูง

ล่าสุด กรมศุลกากรเกาหลีใต้ แจ้งข้อมูลการนำเข้ากิมจิ วันนี้ (25 มกราคม 2566) พบมูลค่าการนำเข้ากิมจิทั้งหมดอยู่ที่ 169.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 หรือประมาณ 5,400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนในแง่ของปริมาณ เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิทั้งสิ้น 263,434 ตัน ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2564 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงจากนี้ไปคงต้องจับตาดูกันต่อว่า เกาหลีใต้จะต้องเผชิญกับวิกฤตกิมจิมากแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อและวิกฤตการเงินของโลกที่กำลังถาโถมทุกประเทศอยู่ ณ ขณะนี้