ขวากหนามที่ขวางเส้นทาง “สวีเดน” เป็นสมาชิกนาโต

25 ม.ค. 2566 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 12:22 น.

ขวากหนามที่ขวางเส้นทาง “สวีเดน” เป็นสมาชิกนาโต โดยผู้นำตุรกีแสดงถึงการขัดขวางครั้งนี้ หลังเกิดเหตุประท้วงเผาทำลายพระคัมภีร์

สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ยังคงดุเดือด สร้างผลกระทบไปทั่วโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยหลังจากเมื่อปีที่แล้ว ฟินแลนด์และสวีเดน ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์หลังจากที่ทั้งสองประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมานาน

นั่นอาจเป็นเพราะว่าฟินแลนด์และสวีเดน ต้องการแสวงหาความมั่นคง เพราะคำสั่งของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ส่งผลให้หลายชาติรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในยุโรปเหนือ รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของ NATO มานานตั้งแต่ปี 1994  

การประชุมสุดยอดผู้นำองค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เปิดฉากขึ้นที่กรุงมาดริดของสเปน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมนาโตมีมติในการเชิญสวีเดนและฟินแลนด์ร่วมเป็นสมาชิกชาตินาโต

ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติเส้นทางของทั้งสองประเทศไม่ได้ราบรื่น ผู้นำตุรกีส่งสัญญาณไม่อนุมัติฟินแลนด์ สวีเดน เข้าร่วมนาโต เพราะเคยคว่ำบาตรอาวุธ และให้ที่พักพิงกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ตุรกีมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จนท้ายที่สุดเมื่อการเจรจาจบลง ผู้นำตุรกีจึงเปลี่ยนท่าทีจากคัดค้านเป็นการสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมนาโต้แทน

เรื่องราวดำเนินเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ท่าทีของตุรกีเปลี่ยนไป เมื่อประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน บอกว่า จุดยืนและนโยบายทั้งหมดของรัฐบาลอังการาที่มีต่อเรื่องนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถรักษาสัญญาและทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกันได้หรือไม่

สวีเดนเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยได้เปิดเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะตุรกียังคงขัดขวางจากการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ 

จนล่าสุดเมื่อไม่กี่วันชนวนความตึงเครียดปะทุขึ้นอีกครั้ง จากเหตุการณ์ประท้วงในกรุงสตอกโฮล์มมีการเผาคัมภีร์อุลกุรอาน ทำให้ความหวังของสวีเดนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก  

“ใครที่ปล่อยให้เกิดการกระทำอันผิดบาปต่อหน้าสถานทูตของเรา อย่าคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากตุรกีให้เข้าเป็นสมาชิกนาโต” เออร์โดกัน กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ฮูลูซี อการ์ รมว.กลาโหมตุรกี ยกเลิกกำหนดการพบหารือกับ นายพาล จอนสัน รมว.กลาโหมสวีเดน ที่กรุงอังการา ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ด้วย 

 

ขวากหนามที่ขวางเส้นทาง “สวีเดน” เป็นสมาชิกนาโต

 

อย่างไรก็ตามล่าสุดรอยเตอร์รายงานว่า ฟินแลนด์และสวีเดนเตรียมหารือกับตุรกี ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นเรื่องที่ฟินแลนด์และสวีเดนจะต้องไปหารือตกลงกับตุรกีเอง

 

ข้อมูล : theguardian , reuters