เบื้องลึกคลื่นใต้น้ำการเมืองเวียดนาม ซัด ‘ประธานาธิบดี’ พ้นตำแหน่ง

18 ม.ค. 2566 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 02:20 น.
606

จู่ ๆ ปธน. เวียดนาม ก็ไขก๊อกตัวเอง ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองวานนี้ (17 ม.ค.) ท่ามกลางกระแสข่าวที่สะพัดว่า ถ้าไม่ลาออกเอง ก็ต้องถูกปลดออกอยู่ดี และเรื่องนี้มีที่มา

 

นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม วัย 69 ปี ประกาศ ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) อย่างไร้การทัดทาน และตัวเขาเองก็ไม่ได้ให้เหตุผล ทั้ง ๆที่ วาระการดำรงตำแหน่งมีถึง 5 ปี และเขาก็เพิ่งปฏิบัติหน้าที่มาไม่ถึง 2 ปีด้วยซ้ำ (นายเหวียนเริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564 ) ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

ก่อนหน้านี้สื่อท้องถิ่นรายงานมานานนับสัปดาห์ว่า เขากำลังถูกเพ่งเล็งและกำลังจะถูก “ถอดถอน” จากตำแหน่งโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงทางการเมือง หลังเกิดคดีทุจริตคอร์รัปชันมากมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี

ล่าสุด มีการปลดฟ้าผ่ารองนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนรวด และรัฐมนตรีอีก 3 คนเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้นายเหวียนตกอยู่ในสถานะ “ผู้นำไร้น้ำยา” ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลกระทำการละเมิดกฎหมายและบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียต่อประเทศชาติตามมา

นายเหงียน ซวน ฟุก กลายเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว การที่ทางพรรคฯ เปิดโอกาสให้เขายื่นลาออกเองจึงยังนับเป็นการ “ไว้หน้า” ให้เขาได้ลงจากตำแหน่งด้วยการลาออก แทนการถูกเด้งหรือบังคับปลดออกโดยพรรคคอมมิวนิสต์ฯที่มีคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ “โปลิตบูโร” เป็นกลไกบริหารอำนาจ

หลังการลาออก นายเหวียนกลายเป็นผู้นำระดับสูงสุดของรัฐบาลเวียดนามที่ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งเซ่นนโยบายกวาดล้างปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการเมืองที่ตัวเขาเองเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ และยังเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกที่ต้องลาออกจากตำแหน่งขณะยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบวาระ 5 ปี 

 

นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ประกาศลาออกวานนี้ (17 ม.ค.2566)

 

ถ้าไม่ลาออก ก็ต้องถูกปลด

สื่อของทางการเวียดนาม (วีเอ็นเอ) รายงานว่า ปธน.เหวียน ซวน ฟุก ประกาศการลาออกระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่จัดขึ้นเป็น “วาระพิเศษ” เพื่อพิจารณาการลาออกและเกษียณการทำงานของเขาโดยเฉพาะ ภาษาที่ใช้ในคำประกาศการประชุมนี้บ่งชี้ว่า นายเหวียนถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาของแถลงการณ์อย่างเป็นทางการที่ตีพิมพ์ในสื่อของรัฐบาลเวียดนาม ได้ประกาศยกย่องการทำงานที่ผ่านมาของประธานาธิบดีผู้นี้ โดยเฉพาะในเรื่องการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ก่อนหน้าการเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2564 นายเหวียน ซวน ฟุก ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อน ทำให้เขาดูแลเรื่องนี้อยู่แล้วโดยตรง) แต่แถลงการณ์ก็ยังระบุถึง “ความรับผิดชอบ” ของเขาที่ต้องมีต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เชื่อมโยงกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี 2 คน และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีก 3 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด

นอกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นายเหวียน ยังลาออกจากตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการโปลิตบูโร คณะกรรมการบริหารของคณะกรรมาธิการส่วนกลาง และประธานสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติด้วย

 

ผู้มีอำนาจตัวจริง

ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนามถูกมองว่าเป็นตำแหน่งตามพิธีการ ซึ่งไม่มีอำนาจในทางบริหาร ขณะที่ตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง คือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นของนาย เหวียน ฝู จ่อง (Nguyen Phu Trong) ที่อยู่ในตำแหน่งมาเป็นวาระที่ 3 แล้ว เขาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองเวียดนามด้วยการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถึง 3 สมัยติดต่อกัน คือตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน นับว่า “นานที่สุด” นับตั้งแต่สมัยประธานโฮจิมินห์

นาย เหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งในสมัยที่3 ของนายเหวียน ฝู จ่อง เมื่อปี 2564 ยังแสดงให้เห็นถึงสิทธิพิเศษที่เขาได้รับเพราะเดิมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีกฎเกณฑ์อายุสำหรับสมาชิกระดับสูงว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกต่ออีกสมัยต้องมีอายุอยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 60-65 ปี แต่ตอนที่เขาได้รับตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่3 นั้น (วาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2564-2569) เหวียน ฝู จ่อง มีอายุถึง 76 ปีแล้ว

ตอนนี้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น "บุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุด" ในเวียดนาม และด้วยสถานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เขาจึงเป็นประธานในการทำงานของคณะกรรมการกลางพรรคและเป็นสมาชิกโปลิตบูโรหมายเลข1 

นับตั้งแต่ที่เหวียน ฝู จ่อง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่2 ในปี 2559 เขาก็ได้เป็น ประธานในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน จากนั้นมาจึงได้มีการปราบปรามและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีและนักการเมืองจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งสมาชิกโปลิตบูโรเอง ถ้าหากพัวพันการคอร์รัปชันก็ต้องรับโทษจำคุกจากข้อหาที่มีตั้งแต่การฉ้อโกงไปจนถึงการจัดการเศรษฐกิจผิดพลาด

กฎระเบียบใหม่จากโปลิตบูโรที่ประกาศใช้ในปี 2562 ลงนามรับรองโดยเหวียน ฝู จ่อง เน้นย้ำในรายละเอียดถึงกลไกผิดกฎหมาย ตั้งแต่การกระทำที่ถูกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ไปจนถึงการล็อบบี้ตำแหน่งระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์และในคณะรัฐบาล

กลไกผิดกฎหมายยังรวมถึงการใช้อิทธิพลของเพื่อนและญาติที่มีตำแหน่งระดับสูงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ การใช้สินบนเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ ในพรรค การใช้ประโยชน์ภูมิหลังของครอบครัวเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง และการสร้างข่าวเชิงลบต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

สำนักข่าวเวียดนามซึ่งเป็นสื่อของรัฐ รายงานว่า “หากผู้ที่ทำงานในกิจการด้านบุคลากรพบว่ามีความเกี่ยวข้องในการทุจริต พวกเขาจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงและแม้กระทั่งถูกไล่ออกจากพรรคหากกรณีดังกล่าวร้ายแรงมาก และจะถูกไล่ออกจากตำแหน่งด้วย”

ทั้งนี้ การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเวียดนามที่ซึ่งอัตราเงินเดือนของพนักงานภาครัฐยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้อให้เกิดการให้สินบนผิดกฎหมาย การจ่าย "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" เพื่อตอบแทนสำหรับผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ 

 

ส่วน 'เหวียน ซวน ฟุก' เหลือเพียงผลงานที่ต้องจารึกไว้  

เหวียน ซวน ฟุก วัย 69 ปี เริ่มเส้นทางการเมืองในระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2522 และเข้ารับตำแหน่งในระดับชาติเมื่อปี 2549  ก่อนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการโปลิตบูโรในปี 2554 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามระหว่างปี 2549 – 2564 จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปีเดียวกันนั้น (2564)

ผลงานสำคัญของเหวียน ซวน ฟุก คือการผลักดันเวียดนามให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และต่อมาเขาถือเป็นผู้นำในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิดด้วยการประกาศใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดทั่วประเทศ ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดในระดับสูงสุดทั่วโลก