จีนกับการเปลี่ยนแปลง 10 ประการ ใต้ปีกพญามังกร ‘สี จิ้นผิง’

28 ต.ค. 2565 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 15:00 น.
534

ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ ทั้งในประเทศและในบริบทระดับโลก “สำนักข่าวรอยเตอร์” ได้รวบรวมการเปลี่ยนแปลงของจีน 10 ประการภายในยุคสมัยการปกครองของพญามังกรผู้นี้

 

"สี จิ้นผิง" ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 พร้อมเปิดตัวสมาชิกคณะกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ (โพลิตบูโร) ชุดใหม่ 7 คน เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ภายหลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 (16-22 ต.ค.) นับเป็นการรักษาฐานอำนาจที่ทำให้เขาเป็น ผู้นำจีน ที่ทรงอิทธิพลที่สุดนับตั้งแต่ยุคสมัยของ "เหมา เจ๋อตุง" ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

"สี จิ้นผิง" ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3

ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ ทั้งในประเทศและในบริบทระดับโลก “สำนักข่าวรอยเตอร์” ได้รวบรวม การเปลี่ยนแปลงของจีน 10 ประการ ภายในยุคสมัยการปกครองของ สี จิ้นผิง ดังนี้

 

1. จีนในสายตาสหรัฐและชาติตะวันตกย่ำแย่ลง

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน ถือว่าย่ำแย่ลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสถานการณ์นี้เลวร้ายลงแบบดิ่งนับตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่มีนโยบายที่เข้มงวดกับจีน ขณะเดียวกัน มุมมองของจีนในสายตาชาติตะวันตกอื่น ๆ ก็ย่ำแย่ลงตามไปด้วย จากความกังวลในประเด็นสิทธิมนุษยชน และท่าทีก้าวร้าวของจีนที่มีต่อไต้หวัน

 

2. นโยบายต่อต้านการทุจริต

หลังจากก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  เริ่มต้นผลักดันการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นโยบายต่อต้านการทุจริตและกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างเข้มงวดนี้ อาจจะเป็นอีกเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการ “กำจัด”คู่แข่งทางการเมืองของสี จิ้นผิงด้วย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำราบบรรดาเขตปกครองพิเเศษอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยการใช้นโยบายด้านความมั่นคง

3. กำราบเขตปกครองพิเศษด้วยนโยบายความมั่นคง

ดินแดนภายใต้อาณัติการปกครองของจีน เช่น ธิเบต ซินเจียง และฮ่องกง ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองที่อยู่ห่างไกลจากปักกิ่ง และเคยสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ถูกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำราบจนอยู่หมัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยการใช้นโยบายด้านความมั่นคง กรณีที่เห็นได้ชัด คือ  การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง หลังเกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง เมื่อปี 2019 หรือในกรณีของเขตปกครองพิเศษซินเจียง มีการจับกุมชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ไปเข้าค่ายกักกันจำนวนนับล้านคน

 

4. จุดประเด็นร้อนกับไต้หวัน

ผู้นำจีนทุกคนนับตั้งแต่ยุคเหมา เจ๋อตุง เป็นต้นมา ต่างเน้นย้ำความสำคัญของ “การรวมชาติ” ให้ไต้หวันกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน

 

แต่ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันยกระดับขึ้นภายใต้การนำของปธน.สี จิ้นผิง เมื่อกองทัพจีนเพิ่มกิจกรรมทางการทหารรอบเกาะไต้หวันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ตั้งแต่การซ้อมรบไปจนถึงการรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาเหนือเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน

 

และภายหลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อเร็ว ๆนี้ จีนก็ยิ่งเพิ่มการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน

จีนเพิ่มการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

 

5. บทบาทนำของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกระดับบทบาทของภาครัฐในการควบคุมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการใช้มาตรการ “กำราบ” ภาคเอกชนที่เป็นอิสระมากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจของเอกชนที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ และบรรดาโรงเรียนกวดวิชาที่มุ่งแสวงกำไร

 

การเข้าปราบปรามอุตสาหกรรมเหล่านี้ บวกกับผลกระทบของมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดในจีน ยิ่งทำให้เกิดการว่างงานในชุมชนเมืองมากขึ้นและทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง

 

6. เศรษฐกิจเติบโตช้าลง-ค่าแรงพุ่งขึ้น

ยุคแห่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับเลขสองหลักนั้น สิ้นสุดลงก่อนที่ปธน.สี จิ้นผิง จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม รายได้ของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคของปธน.สี จิ้นผิง

 

นักวิเคราะห์จำนวนมากเริ่มออกโรงเตือนว่า การมุ่งลงทุนอย่างหนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวคือสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าสำหรับจีน

 

รายได้ของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคของปธน.สี จิ้นผิง

7. เด็ดปีกผู้เห็นต่าง-ขยายการเซนเซอร์

ปธน.สี จิ้นผิง มุ่งเน้นการปราบปรามผู้ที่วิจารณ์และประท้วงคัดค้านตนเอง ลดพื้นที่และบทบาทของผู้เห็นต่าง ขณะที่เพิ่มการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

 

8. กองทัพจีนที่ทันสมัยและใหญ่ขึ้น

กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army) นำโดยปธน.สี จิ้นผิง สยายปีกไล่ประชิดสหรัฐ ในหลายมิติ รวมทั้งในน่านน้ำสำคัญ ในระหว่างที่ความตึงเครียดกับไต้หวันเพิ่มมากขึ้น จีนเพิ่มสรรพกำลังเพื่อยึดครองไต้หวันในระดับที่ทางการสหรัฐต้องแสดงความกังวล

 

9. ขยับขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ระหว่างที่จีนพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และได้รับการยกย่องในฐานะประเทศที่ให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2060 ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดด้านสิ่งแวดล้อมของจีน คือ คุณภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

10. ขจัดความยากจนขั้นสุด แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่

ปธน.สี จิ้นผิง ประกาศแผนขจัดความยากจนในจีน และเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของจีน โดยเฉพาะช่องว่างรายได้ระหว่างคนในเมืองและคนชนบท ซึ่งเป็นสิ่งที่ปธน.สียังคงหาทางแก้ไข ผ่านนโยบาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน” (common prosperity policy)

 

ข้อมูลอ้างอิง