สื่อนอกตีข่าวกราดยิงหนองบัวลำภู ย้ำปัญหาอาวุธปืน ยาเสพติด สุขภาพจิตคนไทย

07 ต.ค. 2565 | 11:12 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2565 | 18:45 น.
1.5 k

สื่อต่างชาติเกาะติดเหตุสลดกราดยิงในศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก หนองบัวลำภู วานนี้ (6 ต.ค.) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย รวมถึงเด็ก 24 ราย ระบุเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในไทย แต่สะท้อนปัญหาเรื้อรัง ทั้งการครอบครองอาวุธปืน ยาเสพติด และปัญหาสุขภาพจิต

เหตุการณ์กราดยิง ซึ่งกลายเป็น โศกนาฏกรรม สะเทือนขวัญที่ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี (6 ต.ค.) โดยผู้ก่อเหตุเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อปีที่แล้วด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับยาเสพติดและกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ได้กลายเป็นประเด็นข่าวที่ สื่อทั่วโลก ทั้งฝั่งยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย ให้ความสนใจนำเสนอแทบจะพร้อมๆกับสื่อไทย

 

โดย นิวยอร์กไทมส์ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสื่อในไทย ว่า ปัญญา คำราบ อดีตนายตำรวจวัย 34 ปี คือ ผู้ก่อเหตุสลดครั้งนี้ และเนื่องจากเขาเป็นผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว นี่จึงเป็นคดีกราดยิงหมู่ (mass shooting) ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดด้วยน้ำมือคนๆเดียวเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย โดยเหยื่อที่มีอายุน้อยที่สุดคือเด็กวัยสองขวบ ไม่นับรวมชีวิตน้อยๆในครรภ์ 8 เดือนของเหยื่ออีกรายหนึ่งที่เป็นหญิงตั้งครรภ์

 

สื่อสหรัฐรายนี้ระบุว่า เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภูครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าเหตุการณ์กราดยิงภายในโรงเรียนของสหรัฐครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นคือเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุค (Sandy Hook Elementary School) เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติคัต เมื่อเดือนธ.ค.2555 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 20 ราย

เหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุค เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติคัต เมื่อเดือนธ.ค.2555 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า แม้การอัตราการก่อคดีฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนในไทยจะยังต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกาอยู่มาก แต่ก็ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน นอกจากนี้ การฝึกซ้อมรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ดูจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมไทย อีกทั้งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับลำดับขั้นของผู้มีอำนาจลดหลั่นกันไปสไตล์ทหาร ก็ยังมีเรื่องของความตึงเครียด สภาวะจิตใจ และในกรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ยังมีเรื่องของยาเสพติด (เมตาแอมเฟตามีน) หรือยาบ้า เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  

 

ขณะที่ หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่า 30 คนในศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีเด็ก ๆ อยู่ราว 30 คน โดยมือปืนบุกเข้าไปในพื้นที่เวลา 12.30 น. ซึ่งเป็นเวลานอนพักกลางวันของเด็ก ๆ อายุ 2-4 ขวบ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตนั้นมีบางรายที่อายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น

 

สื่อใหญ่ของอังกฤษรายนี้ระบุว่า ไทย และเพื่อนบ้านคือเมียนมา และลาว นั้น มีพื้นที่บรรจบกันในจุดที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งรู้กันมายาวนานว่าเป็นแหล่งขนลำเลียงและผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ และผลการชันสูตรศพคนร้ายรายนี้ (ซึ่งฆ่าตัวตายหลังก่อเหตุ) จะเป็นหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า ปัญญา คำราบ อดีตนายตำรวจวัย 34 ปี ได้เสพยาและก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ภายใต้อำนาจของยาเสพติดหรือไม่

 

ด้าน ซีเอ็นเอ็น รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเพิ่งไปขึ้นศาลในจังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนจะบุกเข้ายิงกราดในศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ขณะที่เด็ก ๆ กำลังนอนกันอยู่ ส่วน “แอลเอ ไทมส์” สื่อท้องถิ่นของสหรัฐ อ้างข้อมูลจากคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า หลังก่อเหตุแล้ว มือปืนพยายามหลบหนีจนขับรถชนผู้คนไปหลายคนระหว่างทางด้วย

 

ขณะที่ สำนักข่าวเอพี รายงานว่า พยานในเหตุการณ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์รีบล็อกประตูทันทีเมื่อเห็นมือปืนปรากฎตัวขึ้นพร้อมอาวุธ แต่นายปัญญาก็ใช้ปืนยิงประตูบุกเข้าไปภายในจนได้ รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดเผยว่า นายปัญญา ยิงเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 4-5 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องแก่คนหนึ่ง ก่อนจะบุกเข้าไปในห้องที่เด็ก ๆ นอนกลางวันอยู่ แต่ข่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้ ถ้าผู้ปกครองหลายคนไม่ตัดสินใจให้ลูก ๆ อยู่บ้าน เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน เพราะพายุฝนฟ้าคะนองหนักในช่วงนี้

 

รายงานของเอพียังอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า นายปัญญาใช้อาวุธหลากหลาย ประกอบด้วยปืนลูกซอง ปืนสั้น และมีด ในการก่อเหตุ ก่อนจะหลบหนีจากจุดเกิดเหตุและขับรถกลับไปยังบ้านของตน และสังหารภรรยาและลูก พร้อมตัวเองในเวลาต่อมา

 

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า มือปืนใช้ปืนพกขนาด 9 ม.ม.ของตนเองในเหตุการณ์ครั้งนี้ และกล่าวว่า ตนเชื่อว่า นายปัญญาน่าจะกระทำการต่าง ๆ ขณะที่ตกอยู่ในฤทธิยาแอมเฟตามีน

 

ขณะที่การสืบสวนหาสาเหตุของการยิงกราดครั้งนี้ยังดำเนินอยู่ มีหลายฝ่ายที่สงสัยว่า นายปัญญาน่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย

 

ทั้งนี้ รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชาชนราว 1.5 ล้านคนในประเทศไทยที่กำลังประสบภาวะซึมเศร้า

 

สื่อนอกอีกรายคือ “นิวยอร์กไทมส์”  ชี้ว่านี่คือเหตุยิงกราดที่ร้ายแรงที่สุดในไทยนับตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ.2563) เป็นต้นมา โดยย้อนไปเมื่อสองปีก่อน นายทหารรายหนึ่งได้ใช้ปืนไรเฟิลยิงเข้าใส่ผู้คนในวัด ระหว่างทาง และในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ราย

 

สื่อต่างชาติทุกแห่งระบุเหมือนกันว่า เหตุการณ์ยิงกราดนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประเทศไทย แต่การที่มีอาวุธปืนนับพันกระบอกกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น เป็นประเด็นที่ทางการไทยกังวลอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับโอกาสการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน

นิวยอร์กไทมส์ระบุ ไทยเป็นตลาดใต้ดินสำหรับการซื้อขายอาวุธปืนที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

นิวยอร์กไทมส์ ยังอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ gunpolicy.org ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่มีรายงานว่า มีปืนอยู่กว่า 10.3 ล้านกระบอกในไทยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ (ข้อมูลในปี 2017) โดยมีปืนเพียงราว 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

และเมื่อคำนวณดูจากจำนวนประชากรของประเทศราว 69 ล้านคนนั้น อัตราการครอบครองปืนของประชาชนคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 15 กระบอกต่อประชากร 100 คน ซึ่งยังต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน ที่มี 120 กระบอกต่อประชากร 100 คน

 

แต่แม้กระนั้น นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการครอบครองปืนโดยพลเรือนและอัตราการเกิดการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ทั้งยังเป็นตลาดใต้ดินสำหรับการซื้อขายอาวุธปืนที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กร Human Rights Watch ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการควบคุมอาวุธปืน และควรมีการลงมือทำการบางอย่างเพื่อจัดการกับเรื่องนี้

 

โรเบิร์ตสัน กล่าวว่า “โศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อนนี้ คือสัญญาณเรียกร้องให้มีการลงมือแก้ปัญหา และสิ่งที่ชัดเจนแล้วก็คือ ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยปืน ทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และนี่คือเหตุยิงกราดครั้งที่สองในรอบสองปี ถึงเวลาที่ไทยจะตื่นขึ้นมาและตระหนักว่า การปกป้องประชาชนชนนั้นหมายถึง การควบคุมสถานการณ์ให้ได้ มากกว่าจะมองว่านี่คือ เหตุการณ์ที่ ‘เกิดขึ้นครั้งเดียว’ ซึ่งไม่ต้องใส่ใจมากก็ได้