แต่งตั้งเจ้าชาย "โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" มกุฎราชกุมารซาอุฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

28 ก.ย. 2565 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 14:28 น.
1.6 k

กษัตริย์ซาอุฯ ทรงแต่งตั้งมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นนายกรัฐมนตรี และทรงแต่งตั้งเจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน พระราชโอรสอีกพระองค์เป็นรัฐมนตรีกลาโหม

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ แห่ง ซาอุดีอาระเบีย ทรงแต่งตั้ง เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร เป็นนายกรัฐมนตรี และทรงแต่งตั้งเจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน พระราชโอรสอีกพระองค์เป็นรัฐมนตรีกลาโหม

 

สำนักข่าวเอสพีเอ (SPA) ของทางการซาอุดีอาระเบียรายงานอ้างพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันอังคาร (27 ก.ย.) ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฯ พระชนมพรรษา 86 พรรษา ทรงปรับคณะรัฐมนตรีด้วยการแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 37พรรษาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากก่อนหน้านี้ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีกลาโหม

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร

วันเดียวกันนั้น ทรงแต่งตั้งเจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน พระชันษา 33 พรรษา เป็นรัฐมนตรีกลาโหม จากก่อนหน้านี้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม

เจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการลงทุน และรัฐมนตรีพลังงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน คงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน
  • เจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล-สะอูด คงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
  • โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน คงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
  • คอลิด อัล-ฟาลิห์ คงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน 


ทั้งนี้ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่ทรงเป็นที่รู้จักในชื่อเอ็มบีเอส (MbS) และเจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน ทรงเป็นพระโอรสองค์โตและองค์ที่ 2 ของพระชายาองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ

 

รายงานข่าวระบุว่า มกุฎราชกุมารเอ็มบีเอส ทรงเป็นผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัยมาตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากพระราชบิดาที่เสด็จขึ้นปกครองประเทศในปี 2558 พระวรกายไม่ค่อยแข็งแรง เสด็จเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งในช่วงหลายปีมานี้

 

บทบาทใหม่ของมกุฎราชกุมาร นับว่าสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติแทนพระราชบิดามาในอดีต เช่น การเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุฯ ไปเยือนต่างประเทศ หรือเป็นประธานการประชุมซัมมิตต่างๆ ที่ริยาดเป็นเจ้าภาพ

 

มกุฎราชกุมารทรงเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ ด้วยการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจจากเดิมที่พึ่งพาแต่รายได้จากการส่งออกน้ำมัน ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังทรงอนุญาตให้สตรีขับรถยนต์ได้ และจำกัดอำนาจทางสังคมของฝ่ายศาสนา