"ปูติน"ชม "สหายสี จิ้นผิงที่รัก" เป็นความสมดุลบนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

16 ก.ย. 2565 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2565 | 20:49 น.

ปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวชื่นชมปธน. สี จิ้นผิง ว่าแสดงบทบาท "ความเป็นกลาง" บนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผู้นำจีนระบุ ยินดีที่ได้พบกับ “เพื่อนเก่า” อีกครั้ง สะท้อนสัมพันธภาพที่แนบแน่นระหว่างทั้งสองฝ่าย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวชื่นชม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อผู้นำทั้งสองพบปะกันวานนี้ (15 ก.ย.) ที่อุซเบกิสถาน โดยเขาแสดงความชื่นชมการวางบทบาทของจีนอย่าง "เป็นกลาง" บน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน พร้อมฝากเนื้อหาส่วนหนึ่งถึงสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ความพยายามของสหรัฐในการสร้างโลก "แบบขั้วเดียว" จะไม่มีวันประสบผล

 

ด้าน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวในการพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างเขาและประธานาธิบดีปูตินว่า ยินดีที่ได้พบกับ "เพื่อนเก่า" อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้นำจีนซึ่งกำลังจะรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สามติดต่อกันในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ละเว้นที่จะไม่กล่าวถึง "ยูเครน" ในถ้อยแถลงของเขาแต่อย่างใด

 

ปธน.สีเพียงแต่ย้ำว่า จีนยินดีที่จะให้ "การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง" กับรัสเซีย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ  และจะดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในฐานะประเทศขนาดใหญ่ รวมทั้งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในโลก

การพบกันครั้งที่ 39 ระหว่างทั้งสองผู้นำ

ที่ผ่านมา จีนเอาตัวออกห่างจากการประณามปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียต่อยูเครน และไม่แม้แต่จะเรียกว่า “การรุกราน” ซึ่งเป็นท่าทีสอดประสานกันกับรัฐบาลเครมลิน ที่เรียกสงครามนี้ว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร”

สื่อระบุว่า ในการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) ปธน.ปูติน กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทที่เป็นกลางของจีนผู้เป็นมิตรของเราเมื่อกล่าวถึงประเด็นวิกฤตยูเครน”

 

นอกจากนี้ ในบางช่วงของการแถลงข่าวปธน. ปูติน ยังเรียกปธน.จีนว่า “สหายสี จิ้นผิง ที่รัก”ด้วย

 

ครั้งสุดท้ายที่ผู้นำทั้งสองได้พบกันแบบตัวต่อตัวก่อนหน้าครั้งนี้ คือช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทัพรัสเซียจะบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “แบบไม่มีขีดจำกัด” ระหว่างกัน แต่จนถึงขณะนี้ จีนเองซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโลก ก็ยังคงต้องระมัดระวังตัวเองด้วยการที่จะไม่ส่งความช่วยเหลือแก่รัสเซียโดยตรงที่อาจทำให้จีนต้องเผชิญกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกเสียเอง

 

ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รัสเซีย-จีน

ปธน. สี และปธน. ปูติน ได้ริเริ่มการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญระหว่างกัน หลังจากจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และผู้นำทั้งสองก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม สงครามยูเครนที่ปะทุขึ้นได้ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างจีนและรัสเซีย ในแง่ที่ว่า ประเทศหนึ่ง คือ มหาอำนาจที่กำลังเติบโต และมีขนาดเศรษฐกิจที่พร้อมจะเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ในอีกสิบปีข้างหน้า

 

ขณะที่อีกประเทศหนึ่ง คือมหาอำนาจที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประเทศที่ยิ่งใหญ่ และกำลังตกระกำลำบากกับภาวะสงคราม

 

“ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในยุคของเราและในประวัติศาสตร์ของเรา จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียในการแสดงบทบาทของผู้นำ ที่มีความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และสร้างความมีเสถียรภาพและพลังเชิงบวกให้กับโลกอันวุ่นวายนี้” ปธน. สีกล่าวระหว่างแถลงการณ์ร่วมกับปธน. ปูติน 

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้ปธน.สี จิ้นผิง จะเคยพบปะกับปธน.ปูตินแบบตัวต่อตัวมาแล้วถึง 39 ครั้ง นับตั้งแต่ที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเมื่อปี 2013 แต่เขาก็ยังไม่มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบตัวต่อตัวเลย นับตั้งแต่ปธน. ไบเดน ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2021

 

ว่าด้วยเรื่องไต้หวันและความมั่นคงด้านพลังงาน

นอกจากประเด็นยูเครนแล้ว ผู้นำรัสเซียและจีน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องต่างๆที่เป็นประเด็นโลก ซึ่งทั้งสองมหาอำนาจต่างมองว่า ชาติตะวันตกกำลังเสื่อมถอยในอำนาจ ระหว่างที่จีนเองก็กำลังท้าทายอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้

 

สำหรับประเด็นไต้หวันนั้น แน่นอนว่าปธน.ปูติน แสดงท่าทีสนับสนุนจีนอย่างชัดเจน โดยเขากล่าวว่า รัสเซียมีความตั้งใจที่จะยึดหลักการจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และขอประณามการยั่วยุจากสหรัฐและฝ่ายสนับสนุนสหรัฐ 

 

นอกจากนี้ ระหว่างที่ชาติตะวันตกกำลังลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ปธน. ปูติน ได้มองหาช่องทางที่จะขยายการส่งออกมายังจีนและเอเชียมากขึ้น ผ่านโครงการท่อส่งก๊าซ Siberia 2 ที่สามารถส่งก๊าซได้ราว 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียขายให้กับยุโรป

โครงการท่อส่งก๊าซ Siberia 2

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ท่อส่งก๊าซผ่านมองโกเลีย ซึ่งในการหารือของผู้นำจีนและรัสเซีย ประธานาธิบดีมองโกเลีย สนับสนุนการใช้มองโกเลียเป็นทางเชื่อมในการสร้างท่อส่งก๊าซระหว่างรัสเซียไปยังจีนด้วยเช่นกัน