เส้นทางดาวดับ "รอสมะห์ มันซอร์" จากอดีตภริยานายกฯ สู่แดนขัง โทษ 10 ปี

02 ก.ย. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2565 | 20:08 น.
2.5 k

จากกรณีนางรอสมะห์  มันซอร์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข1 ภริยาของนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกฯ มาเลเซีย (ดำรงตำแหน่งปี 2552-2561) ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 10 ปีวานนี้ (1 ก.ย.) ข้อหาทุจริต-เรียกร้องสินบนรวมกว่า 43.3 ล้านดอลลาร์ เรามาดูกันว่าก่อนจะมาถึงวันนี้ เธอมีความเป็นมาอย่างไร

รอสมะห์  มันซอร์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข1 วัย 70 ปี ภริยาของ นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนดังจากพรรคอัมโนผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2552 - 2561 ถูกศาลฏีกาพิพากษาว่ามีความผิดใน คดีทุจริตคอร์รัปชัน เรียกรับสินบน จากบริษัทเอกชนเป็นมูลค่ารวม 194 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราว 43.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยราว 1,588 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยให้บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์เจปัก โฮลดิงส์ (Jepak Holdings) คว้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบไฮบริดมูลค่า 1,250 ล้านริงกิตมาเลเซียของโรงเรียนต่าง ๆ ในรัฐซาราวักเมื่อปี 2559

 

รอสมะห์ถูกตัดสินมี โทษจำคุก 10 ปี และปรับเป็นเงิน 970 ล้านริงกิต หรือประมาณ 216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าคดีนี้เธอยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ แต่รอสมะห์ก็ยังคงมีคดีอื่น ๆ รออยู่อีกเพียบ เพราะเธอถูกตั้งข้อหารวมทั้งสิ้น 17 ข้อหา รวมถึงคดีฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี รวมเป็นเงินราว 7.1 ล้านริงกิตมาเลเซีย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี

 

รอสมะห์เองก็คงไม่เชื่อว่าเธอจะเดินมาถึงจุดตกอับได้ขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมา ชีวิตของเธอรอบล้อมไปด้วยอำนาจ เงินตรา และชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย เป็นที่โจษจันกันว่า เมื่อครั้งสามียังคงอยู่ในอำนาจนั้น รอสมะห์เดินทางต่างประเทศเป็นว่าเล่นเพื่อไปช้อปปิ้งและซื้อกระเป๋ารองเท้าแบรนด์เนมที่เป็นของสะสมสุดโปรด กรุกระเป๋า-รองเท้าหรูของรอสมะห์มีมากกว่าสินค้าในร้านกระเป๋า-รองเท้าใหญ่ๆในกัวลาลัมเปอร์ด้วยซ้ำ 

 

ครั้งหนึ่งในปี 2558 ประชาชนมาเลเซียเคยเดือดดาลกับข่าวที่ว่า รอสมะห์เอ่ยปากบ่นว่าเธอต้องใช้เงินถึง 1,200 ริงกิต (ราว 9,500 บาท) เพื่อเป็นค่าย้อมผมเพียงครั้งเดียว ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของชาวมาเลเซียในช่วงเวลานั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 900 ริงกิตต่อเดือน หรือราว 7,100 บาทเท่านั้น

อดีตอันแสนหวาน 

รอสมะห์ มันซอร์ เกิดในปีพ.ศ.2494 ในเมืองกัวลา พีลาห์ รัฐเนเกรี เซมบิลัน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมาเลเซีย เธอจบการศึกษาด้านสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา

รอสมะห์ มันซอร์ในวัยสาว

รอสมะห์สมรสกับนาจิบ ราซัค ในปี 2530 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและการกีฬาของมาเลเซีย ถือเป็นการสมรสครั้งที่สองของทั้งคู่ พวกเขามีลูกด้วยกัน 2 คน และมีลูกติดจากการแต่งงานครั้งแรกรวม 5 คน

 

ต่อมาในปี 2552 นาจิบได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ทำให้รอสมะห์กลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ

รอสมะห์กับนาจิบ และลูกๆของพวกเขา

ในปี 2554 มีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับรอสมะห์ โดยเธอได้จัดตั้งแผนกสตรีหมายเลข1 ของมาเลเซียขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ทำงานอุทิศตนให้กับงานสังคมและการกุศลในฐานะภริยานายกฯ ได้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้นจากฝ่ายค้านและประชาชน โดยพวกเขามองว่าที่ผ่านมา อดีตภริยานายกฯคนอื่นๆ ก็ทำงานเพื่อสังคมได้โดยไม่ต้องตั้งสำนักงานขึ้นมาถลุงงบประมาณของรัฐ สุดท้ายทางการมาเลเซียต้องนำชื่อแผนกนี้ออกจากเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีการพูดถึงบทบาทของรอสมะห์ในรัฐบาล ที่ไม่ใช่แค่การเป็นภริยาของนายกรัฐมนตรี

 

สื่อทั้งในและต่างประเทศเริ่มขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์ไลฟ์สไตล์และการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของรอสมะห์ หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์ สตรีท เจอร์นัล เคยรายงานว่า พวกเขามีหลักฐานการใช้บัตรเครดิตของเธออย่างน้อย 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 196 ล้านบาท ระหว่างปี 2551-2558 จากการช้อปปิ้งในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก และที่อื่น ๆ

บางคนเรียกเธอว่า "อิเมลดา มาร์กอส2" 

ด้วยความที่รอสมะห์ อดีตภริยานายกฯมาเลเซียคนนี้ มีรสนิยมชื่นชอบการช้อปปิ้งอัญมณี และสินค้าแบรนด์เนมหรูหรา ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า หรือนาฬิกา เธอจึงมีของสะสมหรูหราในครอบครองชนิดที่ผู้พบเห็นจะต้องตกตะลึง ซึ่งเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นเมื่อครั้งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนได้บุกเข้าตรวจค้นคอนโดที่พักของนาจิบและรอสมะห์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 2561 เบื้องต้นตำรวจสามารถยึดเงินสดสกุลต่างๆ ทั้งเงินริงกิตมาเลเซีย เงินดอลลาร์สหรัฐ นาฬิกาข้อมือ และเครื่องประดับเพชรพลอย ยัดแน่นอยู่ในกระเป๋าหรูถึง 72 ใบ

รอสมะห์กับกระเป๋าแอร์เมสเบอร์กิน 1 ในหลายร้อยใบของเธอ

ในการตรวจค้นที่พักและสำนักงานอีกหลายแห่งของสามีภรรยาคู่นี้ ตำรวจยังสามารถยึดกระเป๋าถือหรูหราของรอสมะห์ได้ถึง 567 ใบ ซึ่งรวมถึงกระเป๋าแอร์เมส 272 ใบที่ตำรวจระบุว่า มีมูลค่าเกือบ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 424 ล้านบาทในช่วงเวลานั้น และใบที่มีราคาแพงสุดเป็นกระเป๋าถือแอร์เมสรุ่นหิมาลายันหนังจระเข้ ราคาประเมินอยู่ที่กว่า 15 ล้านบาท 

 

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้หลายคนนึกถึงกรณีการสิ้นอำนาจของนายเฟอร์ดินานด์ และนางอิเมลดา มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลข1 ของฟิลิปปินส์ ซึ่งหลังจากทั้งคู่หนีออกนอกประเทศและมีการตรวจค้นทำเนียบมาลากันยัง ที่พักของครอบครัวประธานาธิบดีมาร์กอสในกรุงมะนิลา เจ้าหน้าที่ก็ต้องตกตะลึงกับกรุรองเท้าจำนวนมหาศาลของนางอิเมลดาเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งนาจิบและรอสมะห์ ปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า ของที่ถูกตำรวจยึดได้ส่วนใหญ่นั้นเป็นของขวัญที่มีคนนำมามอบให้พวกเขา 

 

ในส่วนคดีของรอสมะห์ เธอปฏิเสธการกระทำผิดทั้ง 17 ข้อหา ขณะที่นายนาจิบสามีของเธอ ถูกตั้งข้อหา 32 ข้อหาเกี่ยวกับกองทุน 1MDB ของทางการมาเลเซีย ข้อหาหนักสุดของเขาคือข้อกล่าวหายักยอกเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 23,000 ล้านบาทจากกองทุนดังกล่าว

 

แต่นาจิบเองเพิ่งพ่ายแพ้ในการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายต่อศาลฎีกา โดยเขาได้เริ่มรับโทษจำคุก 12 ปีที่เรือนจำกาจังในรัฐสลังงอเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ถูกพิพากษาโทษจำคุก

 

ส่วนคดีของรอสมะห์ หากเธอจะยื่นอุทธรณ์ก็มีสิทธิสามารถที่จะทำได้ แต่เชื่อว่าชะตาชีวิตของเธอจะไม่ต่างจากสามีเท่าใดนัก และชีวิตของทั้งคู่นั้น กล่าวได้ว่าอับแสงแล้วโดยสิ้นเชิง