พบความเชื่อมโยง “ผู้ติดเชื้อโควิด-ความเสียหายที่สมอง-อาการลองโควิด”

15 ส.ค. 2565 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 13:10 น.
1.1 k

งานวิจัยชี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจมีปัญหาความเสียหายที่สมองหลังหายป่วย และอาจนำไปสู่ปัญหาทางระบบประสาทที่เรียกว่าโควิดระยะยาว (Long COVID) ได้

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งจาก สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ชี้ว่า การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจาก การติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้หลอดเลือดในสมองได้รับความเสียหาย และปฏิกิริยาดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาทางระบบประสาทที่เรียกว่า โควิดระยะยาว หรือ Long COVID

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่จากสหรัฐ รายงานผลการศึกษาดังกล่าว โดยระบุ นักวิจัยได้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสมองในผู้เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากติดเชื้อซาร์ส โควี-ทู (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 จำนวน 9 ราย โดยผลลัพธ์ของการศึกษานี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Brain ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้

 

ความเสียหายต่อหลอดเลือดสมอง

นักวิจัยพบว่า แอนติบอดี้ ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัสนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเซลล์ที่อยู่ในหลอดเลือดของสมอง จนทำให้เกิดการอักเสบและได้รับความเสียหาย

ภาพสแกนสมองเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยโควิด และผู้ไม่ได้ติดเชื้อโควิด (ภาพจาก NIH)

ทั้งนี้ ผลของการศึกษาครั้งนี้คล้ายกับการศึกษาฉบับก่อนหน้าที่จัดทำขึ้นในปี 2020 โดยการศึกษาทั้งสองฉบับ “ไม่พบ” ไวรัส ซาร์ส โควี-ทู ในสมองของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าไวรัสไม่ได้โจมตีสมองโดยตรง

นพ.อาวินดรา แนธ นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน NIH ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสในการศึกษาครั้งล่าสุดกล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เราได้เห็นความเสียหายของหลอดเลือดและการอักเสบในสมองของผู้ป่วยในการระหว่างชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต แต่เราก็ไม่เข้าใจสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย"

 

ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วย 9 คนที่มีอายุระหว่าง 24 ถึง 73 ปี ซึ่งผลจากการสแกนสมองแสดงให้เห็นสัญญาณของความเสียหายของหลอดเลือดในสมองของพวกเขา จากนั้น ผลการสแกนนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการสแกนจากผู้ป่วยอีก 10 คนในกลุ่มโครงการทดลอง

 

นักวิจัยพบว่า แอนติบอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 อาจกำหนดเป้าหมายเซลล์ที่เรียงตัวอยู่ตามหลอดเลือดในสมองอย่างผิดพลาด โดยเซลล์เหล่านี้ ซึ่งมีชื่อว่า เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรง ทำหน้าที่เป็นตัวกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้สารที่เป็นอันตรายเข้าไปถึงสมองได้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลล์นี้ทำให้มีเลือดออกและเกิดภาวะอุดตันในผู้ป่วยโควิด-19 บางราย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

ส่วนในการศึกษาครั้งก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้พบสัญญาณการรั่วของหลอดเลือด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงในแนวกั้นเลือดและสมองที่ได้รับความเสียหายด้วย

 

นายแพทย์แนธกล่าวด้วยว่า เมื่อมีการรั่วเกิดขึ้น เซลล์ภูมิคุ้มกันอาจมาช่วยซ่อมแซมความเสียหาย จนทำให้เกิดการอักเสบในสมองได้

งานวิจัยชี้ความเชื่อมโยง “ผู้ติดเชื้อโควิด-ความเสียหายที่สมอง-อาการลองโควิด”

อาการทางสมองในระยะยาว

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของยีนในบริเวณที่เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงได้รับความเสียหาย โดยที่ยีนมากกว่า 300 ตัวมีการแสดงออกที่ลดลง ในขณะที่ยีนอีก 6 ตัวมีการแสดงออกที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ ยีนที่ได้รับผลกระทบมีความเชื่อมโยงกับความสามารถของสมองในการจัดการกับความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย

 

การค้นพบเหล่านี้อาจช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และยังอาจถูกนำมาใช้เพื่อค้นหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับการเชื่อมต่อที่ได้รับความเสียหายในกลุ่มเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงในแนวกั้นเลือดและสมองได้

 

นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังอาจช่วยให้มีความเข้าใจและช่วยในการรักษาอาการทางระบบประสาทในระยะยาวหลังการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดศีรษะ เหนื่อยล้า การสูญเสียรสชาติและกลิ่น ปัญหาการนอนหลับ และการหลงลืม ที่รู้จักกันในชื่อ Brain Fog หรือ ภาวะสมองล้า ได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วย 9 รายในการศึกษานี้ยังมีชีวิตอยู่ นักวิจัยเชื่อว่า พวกเขาน่าจะมีอาการของโควิดระยะยาว

 

นายแพทย์แนธกล่าวส่งท้ายว่า เป็นไปได้ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันนี้ยังคงเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภาวะโควิดระยะยาว และว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักวิจัยที่ต้องการหาวิธีรักษาอาการโควิดระยะยาวนี้ด้วย

 

ที่มา: วีโอเอ, NIH