นายกฯ อิตาลีลาออก ทำเศรษฐกิจสะเทือน พันธบัตร-หุ้นร่วงระนาว

22 ก.ค. 2565 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 15:34 น.
610

พันธบัตรและหุ้นอิตาลีร่วงลงอย่างหนักวานนี้ (21 ก.ค.) หลังนายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังไม่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรรัฐบาลผสมในการลงมติไม่ไว้วางใจ

สื่อต่างประเทศรายงานว่า หลังมีข่าว การประกาศลาออก ของ นายมาริโอ ดรากี จากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี นักลงทุนก็แห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสัญญา 10 ปีของอิตาลีปรับตัวขึ้น 0.14% สู่ 3.51% ขณะที่ค่าสเปรดผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีกับเยอรมนีพุ่งแตะ 2.24% เนื่องจากนักลงทุนกังวลมากขึ้นว่า อิตาลี จะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับเงินช่วยเหลือมูลค่า 2 แสนล้านยูโร (2.04 แสนล้านดอลลาร์) จากกองทุนเยียวยาโควิด-19 ของ สหภาพยุโรป (EU) ได้หรือไม่ โดยค่าสเปรดดังกล่าวถือเป็นดัชนีชี้วัดแรงกดดันสำหรับหนี้สินของอิตาลี

 

ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้น FTSE MIB ของอิตาลีปรับตัวลง 1.9% แตะที่ 20,943 จุด เพราะนักลงทุนวิตกกังวลว่า การลาออกของนายดรากีจะขัดขวางโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจของอิตาลี เพื่อปรับปรุงให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

มาริโอ ดรากี

ทั้งนี้ นายดรากีได้ยื่นใบลาออกกับประธานาธิบดีแซร์โจ มัตตาเรลลา แห่งอิตาลี ที่พระราชวังควิรินาเลในช่วงเช้าวานนี้ (21 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยปธน.มัตตาเรลลาได้ขอให้รัฐบาลของนายดรากีรับหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการไปจนกว่าจะได้คณะรัฐบาลชุดใหม่

ก่อนหน้านี้ นายดรากีเคยยื่นใบลาออกมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะถูกปธน.มัตตาเรลลา ทัดทานเอาไว้

 

สื่อรายงานว่า การลาออกของนายดรากีเกิดขึ้นหลังที่พรรคการเมืองพันธมิตรในรัฐบาลผสมรายสำคัญ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการลงมติไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ การลาออกของเขาจะนำไปสู่การเลือกตั้งก่อนกำหนดในเดือนต.ค.นี้ และทำให้เกิดช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนสำหรับอิตาลีและยุโรปในช่วงเวลาสำคัญ โดยนายดรากีมีจุดยืนอันแข็งกร้าวต่อรัสเซียและเป็นกำลังสำคัญในการออกมาตรการคว่ำบาตรขั้นเด็ดขาดต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

 

สำหรับประวัติการทำงานของนายมาริโอ ดรากี เขาเติบโตมาในสายนักเศรษฐศาสตร์ มีประสบการณ์รับตำแหน่งนายธนาคารระดับสูงที่สุดของสหภาพยุโรปมาแล้ว รวมทั้งตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมทั้งการเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติของอิตาลี บ้านเกิดของเขาเอง

 

ดรากีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.พ. 2564 เขาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาภายใต้ความสนับสนุนของพรรค ‘ขบวนการ 5 ดาว’ (Five Star Movement) ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐสภาอิตาลี หลังเกิดความแตกแยกในรัฐบาลชุดก่อนเรื่องการใช้จ่ายงบเยียวยาโควิด-19 ที่ได้รับมาจากสหภาพยุโรปจนนายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีคนก่อน ต้องลาออกจากตำแหน่ง