กลุ่ม G7 ประกาศตั้งงบ 5 พันล้านดอลลาร์ แก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลก

28 มิ.ย. 2565 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 01:07 น.
560

ผู้นำชาติสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 ประกาศตั้งงบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลก โดยกว่าครึ่งจะเป็นเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ที่ครอบคลุมถึงเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยตรง และความช่วยเหลือด้านอาหารในระยะใกล้และระยะกลางที่ยั่งยืน

กลุ่มผู้นำประเทศ G7 ประกาศ จัดหาทุน สูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกในวันนี้ (28 มิ.ย.) นับเป็นมาตรการล่าสุดในการตอบโต้ผลกระทบระดับโลกจากกรณีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งกองทัพรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 


เงินทุนดังกล่าวมากกว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลปธน.โจ ไบเดน ประกาศว่าจะมอบเงิน 2,760 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนมาตรการนี้ในประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคกว่า 47 แห่ง

บรรดาผู้นำชาติสมาชิกกลุ่ม G7 ในการประชุมที่มีเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (28 มิ.ย.) ว่า เงินดังกล่าว(ในส่วนของสหรัฐ) จะประกอบด้วย

  • เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยตรงมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์
  • และอีก 760 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือด้านอาหารในระยะใกล้และระยะกลางที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับความยืดหยุ่นและผลิตภาพของระบบอาหารทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เปราะบาง       

"เห็นได้ชัดว่าการกระทำของปูตินคือใจกลางของปัญหา รวมถึงภัยอันตรายทั้งหมดที่เราเห็นทั่วโลกในแง่ของความมั่นคงด้านอาหาร ล้วนเชื่อมโยงกลับมาที่ใจกลางแห่งนี้ได้ทั้งนั้น การกระทำของเขา (ปูติน) เป็นการยับยั้งอาหารและผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้อาหารเป็นอาวุธสงคราม" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว


ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครนผลักไสให้ผู้คนนับล้านต้องกลายเป็นคนยากจน โดยทำเนียบขาวประเมินว่า การบุกยูเครนครั้งนี้ รวมทั้งการทำลายอุปกรณ์การเกษตร ตลอดจนการปิดกั้นเส้นทางการขนส่งธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ จะส่งผลให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคนทั่วโลกในปี 2565