“ถดถอย แต่ไม่รุนแรง” ขุนคลังสหรัฐรับ ศก. Q2 อาจติดลบ

22 มิ.ย. 2565 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2565 | 20:29 น.

"เยลเลน" รมว.คลังสหรัฐ กลับลำเรื่องเศรษฐกิจถดถอย จากเดิมที่ว่าอาจมีการชะลอตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่จะไม่ถึงกับถดถอย ล่าสุดปรับคาดการณ์ใหม่ ยอมรับเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงในไตรมาสสองหลังจากติดลบมาแล้วในไตรมาสแรก ซึ่งบ่งบอกภาวะเศรษฐกิจถดถอย  

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอังคาร (21 มิ.ย.) ว่า เธอยังคงมองว่า มีความเป็นไปได้ที่การขยายตัวของ เศรษฐกิจสหรัฐ จะติดลบเป็นเวลา 2 ไตรมาสติดกัน ซึ่งเป็นเกณฑ์บ่งชี้ถึง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐจะชะลอตัวลง ขณะที่ยังคงมีการจ้างงานเต็มศักยภาพ

 

"มีความเป็นไปได้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน และคนส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนั้น แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีหลายแบบด้วยกัน โดยมีทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบลึก (deep recession), เศรษฐกิจถดถอยแบบตื้น (shallow recession), เศรษฐกิจที่ถดถอยลงชั่วคราวและจากนั้นก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจทำให้อัตราว่างงานขยับขึ้นเล็กน้อย” นางเยลเลนอธิบาย พร้อมกล่าวเสริมว่า ทั้งหมดนี้ แม้จะอยู่ในหมวดของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็มีระดับที่แตกต่างกันไป

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

เมื่อไม่นานมานี้ นางเยลเลนเพิ่งจะแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ แม้ว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงก็ตาม

จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้น คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า (2566)

 

อย่างไรก็ดี นางเยลเลนซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐ กล่าวว่า เธอเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอย เนื่องจากพวกเขาพิจารณาถึงปัจจัยเฉพาะของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรวมถึงอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (labor force participation rate) ที่ลดลงอย่างมาก

 

"ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ในภาวะที่ตึงตัวอย่างมาก และค่าแรงก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากเราเห็นประชาชนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน นั่นหมายความว่า ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานอาจจะบรรเทาลง และนั่นก็อาจจะช่วยให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงด้วย”

เยลเลนย้ำว่า จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และควรพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันประกอบกัน เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะถดถอยหรือไม่และจะเป็นระดับรุนแรงมากน้อยแค่ไหน