ส่องประวัติธุรกิจ Revlon ก่อนถึงวัน ‘ล้มละลาย’

18 มิ.ย. 2565 | 16:17 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 23:43 น.
3.6 k

Revlon ยอมรับแบกหนี้ท่วม 3,700 ล้านดอลลาร์ (กว่า 1.2 แสนล้านบาท) จนต้องยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย พร้อมเร่งเจรจาเจ้าหนี้ก่อนครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ในปีหน้า เผยเค้าลางปัญหาเริ่มตั้งแต่ทุ่มทุนซื้อกิจการอลิซเบธอาร์เดนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

บริษัท เรฟลอน อิงค์ (Revlon Inc.) ยักษ์ใหญ่ เครื่องสำอางจากสหรัฐอเมริกา ที่มีประวัติยาวนานถึง 90 ปี เจ้าของแบรนด์ Revlon ระบุภาระหนี้ท่วม ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งดันให้ต้นทุนวัสดุพุ่งสูง และการแข่งขันในตลาดเครื่องสำอางที่ดุเดือด เป็นเหตุให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลในสหรัฐเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์สินตาม มาตราที่ 11 ของกฎหมายล้มละลาย กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตะลึงในวงการค้าปลีกของสหรัฐท่ามกลางข่าวเชิงลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่พุ่งสูง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง(เฟด) หรือเค้าลางของเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

 

เรฟลอน แจ้งสินทรัพย์และหนี้สินขององค์กรซึ่งมีมูลค่าระหว่าง 1,000-10,000 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากเอกสารที่ทางบริษัทยื่นต่อทางการสหรัฐเมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ ปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ทรัพย์สินมีมูลค่ารวม 2,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สินรวมๆอยู่ที่ 3,700 ล้านดอลลาร์  

 

การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายจะเปิดโอกาสให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ก็ต้องกำหนดแผนการใช้หนี้ด้วย

เรฟลอน เครื่องสำอางแบรนด์ดังของสหรัฐยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เดบราห์ เพอเรลแมน ประธานกรรมการบริหารของเรฟลอน เปิดเผยว่า การยื่นขอล้มละลายในพุธ (15 มิ.ย.) จะทำให้เรฟลอนสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพให้กับผู้บริโภคได้ต่อไปหลังจากที่ได้ทำมาแล้วหลายทศวรรษ ขณะเดียวกันก็เป็นการกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับการเติบโตในอนาคตของบริษัท

 

ข่าวระบุว่า เรฟลอนกำลังเจรจากับเจ้าหนี้และใกล้จะถึงกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้บางส่วนในปีหน้า

 

ทั้งนี้ บริษัทเรฟลอนฯ เป็นของนายโรนัลด์ เพอเรลแมน นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีซึ่งถือหุ้นเรฟลอนผ่านทางบริษัทแมคแอนดรูว์ แอนด์ ฟอร์บส์ ระหว่างขอความคุ้มครองและได้รับการพิทักษ์ทรัพย์จากกฎหมายล้มละลาย เรฟลอนจะได้รับทุนก้อนหนึ่งจากเจ้าหนี้มูลค่า 575 ล้านดอลลาร์มาใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรและทำแผนชำระหนี้  

 

“ผู้บริโภคยังคงต้องการสินค้าของเรา อุปสงค์ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง พวกเขารักแบรนด์ของเรา และตำแหน่งของเรฟลอนในตลาดก็ยังคงแข็งแรงมาก แต่โครงสร้างเงินทุน-แหล่งเงินทุนระยะยาวของเรา เป็นความท้าทายอย่างที่สุดในเวลานี้ และเป็นข้อจำกัดสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค” เดบราห์ เพอเรลแมน ซีอีโอของเรฟลอนระบุในแถลงการณ์

หลากหลายปัจจัยปัญหารวมทั้งผลกระทบโควิดรุมเร้า

เรฟลอนเป็นแบรนด์เครื่องสำอางอเมริกันที่มีประวัติยืนยาวมากว่า 90 ปี ถือกำเนิดในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) โดยเรฟลอนก่อตั้งขึ้นในปี 1932 (พ.ศ. 2475) โดยสองพี่น้อง ชาร์ลส์ และโจเซฟ เรฟสัน ร่วมกับชาร์ลส์ แลคแมน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เริ่มทำธุรกิจด้วยการจำหน่ายยาทาเล็บจนได้รับความนิยม ก่อนจะขยายธุรกิจสู่การจำหน่ายลิปสติก และแตกแขนงเครื่องสำอางจนเติบโตจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกเมื่อปี 1955 (พ.ศ.2498)

 

บริษัทโฮลดิ้งของมหาเศรษฐีโรนัลด์ เพอเรลแมน เข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจของเรฟลอนในปี 1985 (พ.ศ.2528) ก่อนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 28 ก.พ.1996 (2539) เรฟลอนขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและน้ำหอม อีกทั้งยังมีแบรนด์ลูกอย่างคิวเท็กซ์ (Cutex) อเมริกัน ครูว์ (American Crew) และอัลเมย์ (Almay) วางจำหน่ายใน 150 ประเทศทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทมีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เรฟลอนเข้าซื้อกิจการเครื่องสำอางอลิซเบธอาร์เดน (Elizabeth Arden)ในปี 2016 (2559) ทำให้ต้องออกหุ้นกู้และระดมเงินมาจ่ายการซื้อกิจการมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ “ปิดเมือง” ที่มีตามมา ยังสร้างปัญหาให้กับระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกดันให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งพุ่งสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ยอดขายยังลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

เรฟลอนสูญเสียฐานลูกค้าให้กับแบรนด์เครื่องสำอางคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่

รายงานข่าวระบุว่า ปัญหาอีกด้านคือ เรฟลอนยังสูญเสียฐานลูกค้าให้กับแบรนด์เครื่องสำอางคู่แข่งอย่างลอรีอัล (L’Oreal) และเอสเต ลอเดอร์ (Estee Lauder) ที่หันมาใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตาแกรม รวมทั้งบรรดาบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากกว่า  นอกจากนี้ คู่แข่งอย่างคัฟเวอร์เกิร์ล (CoverGirl) ของบริษัทโคตี้ (Coty Inc) ยังชิงส่วนแบ่งตลาดจากเรฟลอนมาได้ด้วยการลงทุนอย่างหนักเพื่อการพัฒนาสินค้า

 

ขณะเดียวกัน ความพ่ายแพ้ส่วนหนึ่งของเรฟลอนยังมาจาก 'คู่แข่งหน้าใหม่' เป็นแบรนด์เครื่องสำอางของเหล่าคนดัง ที่เข้ามาแย่งชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดไปอีกด้วย เช่น แบรนด์ไคลี คอสเมติก (Kylie Cosmetics) ของไคลี เจนเนอร์ ที่โด่งดังมาจากรายการเรียลลิตี้ชื่อดัง Keeping Up with the Kardashians และแบรนด์เฟนตี้ บิวตี้ (Fenty Beauty) ของริฮานนา ศิลปินหญิงชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ