ไทย-ญี่ปุ่นชื่นมื่น "เคดันเร็น" จ่อเยือนไทยปีนี้ เล็งลู่ทางเพิ่มการลงทุน

03 พ.ค. 2565 | 06:39 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2565 | 14:12 น.

ความร่วมมือการลงทุนไทย-ญี่ปุ่นยังคงยกระดับมากขึ้น นอกเหนือจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกฯญี่ปุ่น (1-2 พ.ค.) ซึ่งมีการหารือความร่วมมือหลากมิติแล้ว ยังมีความคืบหน้าจากการเยือนญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆนี้ ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน

นอกเหนือจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายฟุมิโอะ คิชิดะ ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหารือ ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น หลากมิติแล้ว ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายจากการเยือนญี่ปุ่นของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย. 2565 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายไปสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมให้ไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้ โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ 

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ภายหลังจากที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางเยือนกรุงโตเกียวและจังหวัดคานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา และได้มีโอกาสหารือร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยา ทั้งรายใหม่และรายที่มีการลงทุนในประเทศไทยแล้ว เพื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทยในผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจากการหารือพบว่า หลายบริษัทของภาคเอกชนญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยมีเสน่ห์ต่อการเป็นจุดหมายการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่น ได้แก่

1. การหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่ง นายซาซากิ โนบุฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้ขอบคุณประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเลือกเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่สามารถเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคได้

 

2. การหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น  (Keidanren) โดยเคดันเร็นได้แจ้งว่า คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Trade and Economic Committee) ภายใต้เคดันเร็น ซึ่งมีสมาชิก 70 บริษัท มีแผนจะเยือนไทยในปีนี้ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ตอบรับว่าจะเตรียมการต้อนรับคณะอย่างดีที่สุด และพร้อมให้ข้อมูลของประเทศไทยอย่างเต็มที่

 

3. การหารือกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5 บริษัท โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ มีการออกมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนต่างๆ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่านโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทยจะช่วยส่งเสริม การเปลี่ยนผ่านและการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในประเทศไทยได้อย่างดีในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทได้ตอบรับและยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีแผนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทย และคาดว่า จะทยอยเข้าร่วมมาตรการ EV3 ได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

4. การหารือกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 บริษัท ทั้งรายใหม่และรายที่มีการลงทุนในไทยแล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวกับบริษัทว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทย ทั้งการขยายการลงทุนในส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และการขยายไปสู่ต้นน้ำในอนาคต

 

5. การหารือกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมยา บริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตยาระดับโลก (Global Company) 1 บริษัท ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วยการจำหน่ายยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ยามะเร็ง และยาเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นต้น และทำการทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยคนไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ยังไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare, Wellness & Medical Hub) และขอให้บริษัทดังกล่าวพิจารณาขยายธุรกิจจัดตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทย รวมทั้งการวิจัยทางคลินิกในไทยมากขึ้น

 

ทั้งนี้ บริษัทได้มองเห็นศักยภาพของประเทศไทย รวมทั้งเชื่อมั่นในคุณภาพของบุคลากรการแพทย์ของไทย จะพิจารณาศึกษาโอกาสการขยายธุรกิจในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังได้หารือถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย