อัพเดตกันหน่อย ประเทศไหนยกเลิกคำสั่งใส่หน้ากากอนามัยแล้วบ้าง

28 เม.ย. 2565 | 15:04 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 22:21 น.
10.8 k

หลังการบังคับสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการใช้ระบบขนส่งสาธารณะถูกศาลสั่งยกเลิกในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าการเดินทางต่อจากนี้เมื่อผู้คนเลิกใส่แมสก์จะมีความปลอดภัยแค่ไหน และมีประเทศใดอีกบ้างที่ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้

สำหรับชาวอเมริกัน เป็นเวลายาวนานกว่า 1 ปี (ชัดๆ คือ 14 เดือน) ที่พวกเขาต้องปฏิบัติตาม มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ด้วย การสวมใส่หน้ากากอนามัย (แมสก์) เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินและระบบขนส่งสาธารณะ แต่เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อบังคับดังกล่าวถูกสั่งระงับโดย นางแคทริน คิมบอล มิเซลล์ ผู้พิพากษารัฐบาลกลางแห่งรัฐฟลอริดา และส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูเเลการคมนาคมหรือ TSA ยกเลิกกฎการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อผู้โดยสารใช้บริการสายการบิน ระบบขนส่ง และบริการเรียกรถรับส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน (เช่น Uber และ Lyft )ในทันที

 

นอกจากนี้ สนามบินและสายการบินจำนวนมากทั่วประเทศสหรัฐ อาทิ สายการบิน Delta, American, Southwest, Alaska และ JetBlue ได้ประกาศให้ผู้โดยสารสามารถถอดหน้ากากอนามัยออกได้เมื่ออยู่บนเครื่องบิน ส่วนบนภาคพื้นดินนั้น กฎเกณฑ์มีความเเตกต่างกันออกไป ตามเเต่ละพื้นที่ เช่น นครนิวยอร์กเตรียมประกาศให้ผู้คนใส่แมสก์เวลาใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่อไป ส่วนเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องใส่แมสก์เวลาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ในรถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง รถไฟ หรือในสถานี แต่จำต้องใส่แมสก์ในเวลาไปไหนมาไหนในเขตตัวเมือง เป็นต้น

หลายสายการบินในสหรัฐประกาศให้ผู้โดยสารสามารถถอดหน้ากากอนามัยออกได้เมื่ออยู่บนเครื่องบิน

การตัดสินของผู้พิพากษามิเซลล์ ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตในการออกกฎบังคับการใส่หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ ชี้แจงว่า รัฐบาลจะยื่นอุทธรณ์ในกรณีที่ CDC เห็นว่ามาตรการบังคับการใส่หน้ากากอนามัยยังคงมีความจำเป็นอยู่เท่านั้น แต่สื่อรายงานว่า การคัดค้านคำสั่งศาลข้างต้นอาจทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมือง

 

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ แม้การคัดค้านการใส่แมสก์จะได้รับความนิยมในช่วงแรก ๆ ที่กฎดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แต่จากผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในระยะหลัง ๆพบว่า ขณะนี้ชาวอเมริกันเคยชินกับการใส่แมสก์เวลาไปไหนมาไหนแล้ว ดังนั้น การสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการใส่หน้ากากอนามัยจึงไม่ได้รับความนิยมเหมือนเมื่อก่อน

 

นายแพทย์ บาแบค จาวิด แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ในซานฟรานซิสโก ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับประเภทของการเดินทาง ระบบกรองอากาศบนเครื่องบินนั้นมีประสิทธิภาพที่ดี แต่การต่อแถวขึ้นเครื่องบินและลงเครื่องบิน ซึ่งผู้คนจะต้องยืนในระยะประชิดหรือใกล้ชิดกันอาจจะเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เพราะอากาศไม่สามารถถ่ายเทได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม กฎการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปต่างประเทศนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละสายการบินว่าจะปฏิบัติตามกฎของประเทศใด ซึ่งสายการบินส่วนใหญ่มักจะเคารพกฎของประเทศที่มีมาตรการที่เข้มงวดกว่า ยกตัวอย่าง กรณีผู้โดยสารเดินทางไปประเทศแคนาดาอาจจำเป็นต้องหยิบหน้ากากอนามัยขึ้นมาใส่ระหว่างบิน เมื่อเดินทางเข้าน่านฟ้าหรือเขตของประเทศนั้น ๆ  

หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎเกณ์การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

เฮนรี่ ฮาร์เวทด์ นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวแห่ง Atmosphere Research Group กล่าวว่า เป็นไปได้ที่สายการบินต่างชาติบางสายการบิน อาจจะบังคับให้ผู้โดยสารยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปหรือออกจากสหรัฐอเมริกา

 

ขณะที่นายแพทย์ เดวิด ดาวดี้ นักระบาดวิทยาแห่ง Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ชี้ว่า เครื่องบินสามารถเคลื่อนย้ายไวรัสโควิดจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้ก็จริง แต่สิ่งที่ควรให้ความสนใจมากกว่านั้นคือ การจัดงานสังสรรค์ขนาดใหญ่ เช่น การเล่นคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และงานแต่งงานใหญ่ ๆ ที่ผู้ร่วมงานมักจะนั่งใกล้กัน สนทนา ตะโกนและร้องเพลง

 

ทั้งนี้ CDC แนะนำให้ประชาชน ยังสวมหน้ากากอนามัยต่อไปเมื่ออยู่ในตัวอาคารและเวลาเดินทางไปไหนมาไหน เนื่องจากหน้ากากอนามัยยังคงเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ที่สามารถป้องกันเชื้อโควิดได้ และการแพร่เชื้อจะลดหากทุกคนเลือกที่จะใส่หน้ากากอนามัย

 

นายคาร์ล เบิรก์สตรอม นักชีววิทยาด้านโรคระบาดแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานสามารถป้องกันผู้ใส่จากโรคระบาดต่าง ๆด้วยการลดจำนวนเชื้อโรคที่ผู้ใส่สูดดมเข้าไป และช่วยป้องกันผู้คนโดยรอบด้วยการลดจำนวนการแพร่การกระจายของเชื้อโรคจากผู้ติดเชื้อที่สวมแมสก์

 

นอกจากนี้สหรัฐแล้ว ยังมีประเทศใดอีกบ้างที่ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะในระยะหลัง ๆนี้

 

อังกฤษ

19 ม.ค.2565 นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศว่า จะยกเลิกการใช้มาตรการรับมือโควิดตาม "แผนบี" (Plan B) แล้วกลับไปใช้ "แผนเอ" (Plan A) ซึ่งผ่อนคลายมากกว่า หลังรัฐบาลฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิดได้ครอบคลุม และประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเป็นอย่างดี

 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศยกเลิกคำแนะนำให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้านโดยให้มีผลทันที และยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากอนามัยในโรงเรียนตั้งแต่ 20 ม.ค.เป็นต้นมา ส่วนข้อบังคับการสวมหน้ากากในที่สาธารณะอื่น ๆ สิ้นสุดลงในวันที่ 27 ม.ค. อย่างไรก็ตาม ทางการยังคงแนะนำการสวมหน้ากากในพื้นที่ปิดและสถานที่มีคนหนาแน่น และโดยเฉพาะเมื่อต้องพบปะกับคนแปลกหน้า แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยต่อไป

 

สิงคโปร์

3 มี.ค. 2565 นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสิงคโปร์จะยกเลิกข้อบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่เปิด หรือเมื่ออยู่นอกตัวอาคาร แต่ยังคงคำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยต่อไปเมื่ออยู่ภายในอาคารหรือสถานที่ปิด

 

นอกจากนี้ พนักงานสามารถกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศได้ และอนุญาตให้ประชาชนรวมตัวกันจาก 5 คน เป็น 10 คน ส่วนข้อบังคับในการเดินทาง ผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนครบโดส รวมถึงเด็กที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ครบโดส แต่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี สามารเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนขออนุญาตเข้าประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน

 

สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่บังคับใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการบังคับใส่หน้ากากอนามัยและการติดตามสอบสวนโรค ผู้นำสิงคโปร์ระบุว่า การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ครั้งล่าสุดนี้ เป็นการเริ่มต้น “กลับเข้าสู่ชีวิตปกติ” เช่น การกลับมารวมตัวกันของสมาชิกครอบครัว และพบปะกับคนรักในต่างแดน แต่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงคำเตือนต่างๆ ด้วย พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชนทำตามกฎ และตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ

 

นิวซีแลนด์

ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำหญิงแห่งนิวซีแลนด์ ประกาศ “เริ่มต้นใหม่ของประเทศ” สั่งยกเลิกมาตรการบังคับผู้คนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตามสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะสถานที่โล่งแจ้ง ให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้คน ส่วนมาตรการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยภายในอาคารสถานที่สาธารณะยังต้องดำเนินการต่อไป

 

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังประกาศยกเลิกระเบียบบังคับเจ้าหน้าที่งานด้านการศึกษา ตำรวจและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดส ยกเว้นเจ้าหน้าที่กลุ่มงานด้านสาธารณสุข ผู้ดูแลคนสูงอายุ ผู้ดูแลผู้ต้องขังและนักโทษ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตามแนวพรมแดน

 

นางอาร์เดิร์น ระบุการตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดป้องกันโควิด-19 ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประเทศ และไม่ใช่เพราะผลกระทบจากโดนประท้วง แต่เพราะสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มทุเลาความรุนแรงลง แม้ว่าอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศยังสูงเฉลี่ยวันละเกือบ 20,000 ราย ส่วนอัตราการรับวัคซีนโควิด-19 ของชาวนิวซีแลนด์อายุตั้งแต่ 12 ปี ครบ 2 โดสแล้วมีประมาณ 95%

สำหรับมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป การสวมหน้ากากภายนอกอาคารจะเป็น “ทางเลือก” ของประชาชน

มาเลเซีย

27 เม.ย.2565 นายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย แถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้เป็นต้นไป การสวมหน้ากากภายนอกอาคารจะเป็น “ทางเลือก” ของประชาชน นั่นหมายถึงพวกเขาสามารถเลือกที่จะใส่หรือไม่ใส่ ตามความสะดวกใจ แต่ทางการยังสนับสนุนให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ผู้คนแออัด เช่น ตลาดรอมฎอน สนามกีฬา ตลาดโต้รุ่ง

 

ส่วนภายในอาคาร เช่น ในห้างสรรพสินค้า และรถโดยสารสาธารณะ ยังคงบังคับสวมหน้ากากอนามัยอยู่

 

พร้อมกันนั้นมาเลเซียยังยกเลิกการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึง สำหรับนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาครบแล้ว รวมทั้งคนที่หายจากโควิดในระยะ 6-60 วันก่อนออกเดินทาง และนักเดินทางที่อายุไม่เกิน 12 ปี นอกจากนี้ ยังยกเลิกประกันการเดินทางสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศ แต่คนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบยังต้องตรวจโควิด และบังคับกักตัว 5 วัน

 

กัมพูชา

25 เม.ย. 2565 นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงหลังประชุมคณะกรรมการต่อสู้โควิด-19 ว่ากัมพูชายกเลิกการบังคับสวมหน้ากากนอกอาคารมีผลทันที ส่วนภายในอาคาร เช่น ห้องประชุม โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ยังคงบังคับสวมหน้ากากอนามัย

 

“ตอนนี้เราจะไปฉีดวัคซีนแทนการสวมหน้ากาก เพื่อสร้างหลักประกันว่าเราจะยืนหยัดต่อไปได้หลังยกเลิกบังคับสวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในอนาคต ผมขอให้ทุกคนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 ที่เป็นจำนวนโดสต่ำสุดในกัมพูชา (ฉีดสามเข็มถือว่าฉีดครบ)” นายกฯ ฮุนเซนกล่าว และว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการปรับหรือลงโทษ แต่ประชาชนควรถือเป็น “หน้าที่ทางจริยธรรม” ที่ต้องทำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

เกาหลีใต้

วันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดในประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้นการบังคับใส่หน้ากากอนามัย โดยธุรกิจร้านค้าสามารถกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติโดยไม่มีการจำกัดเวลาทำการ หรือจำนวนผู้เข้าใช้บริการ พร้อมทั้งยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามไม่ให้ประชาชนรวมตัวกันเกิน 10 คน โดยหลังจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้จะพิจารณาว่าจะยกเลิกมาตรการบังคับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ