นักวิชาการ หวั่น “วิกฤตยูเครน” เรื้อรัง ลุ้นไทยได้รับผลดี

24 ก.พ. 2565 | 17:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 00:56 น.
1.0 k

ส่องผลกระทบจาก “วิกฤตยูเครน” นักวิชาการ ประเมินสถานการณ์อาจจำกัดในพื้นที่ หวั่นไม่บานปลาย แต่มีความเสี่ยงอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ส่วนไทยเองแม้ระยะสั้นได้รับผลกระทบ แต่เชื้อในระยะยาวอาจมีข่าวดีเกิดขึ้น

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีวิฤตความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ได้บานปลาย

 

ทั้งนี้เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจำกัดอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นเป็นหลัก ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ยุโรปมากกว่าเอเชีย 

 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ยูเครนน่าจะอยู่ในพื้นที่นั้น และคงไม่ถึงกับสงครามโลกครั้งที่ 3 แน่นอน เพราะว่าทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องการเมือง ความมั่นคง โดยทุกคนกังวลกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง หลังจากสถานการณ์โควิดได้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่หากเกิดสงครามขึ้น ก็ยิ่งกระทบเศรษฐกิจให้แย่กว่าเดิม”

 

อย่างไรก็ตามยังมองปัญหาครั้งนี้ว่า แม้จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่น่ากังวลว่า หากปัญหายังยืดเยื้อผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มีตามมา โดยเฉพาะเศรษฐกิจของยุโรป 

ส่วนผลกระทบกับประเทศไทยเอง อย่างเช่น ตลาดหุ้น แม้ระยะสั้นจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้กระทบหนักมาก ขณะที่ระยะยาวในกรณีที่สถานการณ์เกิดความยืดเยื้อ นักลงทุนก็อาจเคลื่อนย้ายการลงทุนมาทางฝั่งเอเชียมากขึ้น และไทยเองก็น่าจะได้รับอานิสงส์นั้นด้วย

 

“ส่วนตัวมองว่าในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้านเศรษฐกิจน่าจะได้รับผลดีแน่นอน แม้จะไม่ได้ดีสุด ๆ แต่ก็ยังดีกว่าตลาดยุโรปอย่างแน่นอน และจากนี้ไปคงต้องติดตามสถานการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง โดยไทยต้องวางแนวทางรองรับให้ทัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยที่สุดอาจเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

 

วิกฤตยูเครน

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป้าหมายสำคัญของรัสเซีย คือ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลของยูเครนให้เป็นมิตรต่อรัฐบาลรัสเซียโดยเร็ว และมีความเป็นไปได้ว่า จากนี้จะขยายรัฐอิสระจากที่มีเพียงภูมิภาคดอนบาสเพิ่มขึ้นไปครอบคลุมทั้งแคว้น

 

แต่อาจจะไม่ถึงกับยึดยูเครนทั้งหมด เหมือนกับที่ทำกับไครเมีย เพราะอาจทำแค่เปลี่ยนแค่เปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นรัฐอิสระภายใต้รัสเซียก่อน

 

ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้กระทบมากนัก ยกเว้นบานปลายเป็นสงครามระหว่างกลุ่มประเทศองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO กับรัสเซีย แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งตอนนี้คงต้องมาดูระยะเวลาว่าจะยื้อเยื้อแค่ไหน

 

โดยส่วนตัวมองว่า สถานการณ์นี้ไม่น่าจะยืดเยื้อมากนัก ส่วนผลกระทบที่ต้องจับตาดูจากนี้อาจต้องดูสมมุติฐาน 3 เรื่องที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศกลุ่ม NATO คือ

 

  1. จะมีการคว่ำบาตรหนักขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายการทำธุรกรรมทางการเงิน
  2. จะไม่ส่งสินค้าประเภทเทคโนโลยีให้กับรัสเซีย
  3. รัสเซียจะตอบโต้เรื่องของพลังงาน ก็อาจส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้

 

“ผลกระทบตามสมมุติฐานทั้งหมดแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบจนเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยตอนนี้ประเมินว่า ผลจากเรื่องเหล่านี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงบ้าง เช่นเดียวกับตัวเลขการส่งออกที่ปรับลดลง หรือเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นชั่วคราว แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายลงเร็ว ความผันผวนต่าง ๆ ก็ลดลง และไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานก็ไม่น่าเกิดขึ้นเช่นกัน” รศ.ดร.สมชาย ระบุ