สภารัสเซียไฟเขียว "ปูติน" ลั่นกลองรบ อนุมัติส่งกองทัพช่วยกบฏยูเครน

23 ก.พ. 2565 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 23:49 น.
4.1 k

วุฒิสภารัสเซียมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันอังคาร (22 ก.พ.) อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้กองทัพรัสเซียนอกประเทศได้เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ผู้นำรัสเซียยันข้อตกลงหยุดยิง "ไม่มีอีกต่อไปแล้ว" 

วุฒิสภารัสเซีย ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 153 เสียงลอยลำ ไร้เสียงคัดค้าน อนุมัติให้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้ กองทัพรัสเซีย นอกประเทศได้เพื่อให้การสนับสนุน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

 

โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำรัสเซียยื่นคำร้องต่อวุฒิสภาขออนุมัติการใช้กำลังทหารนอกประเทศในการสนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (DNR) และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (LNR) ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครน และเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียที่ต่อสู้กับกองทัพยูเครนมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ ไครเมีย ประกาศแยกตัวจากยูเครนภายใต้การสนับสนุนของรัสเซีย

 

"การเจรจาได้หยุดชะงักลง ขณะที่ผู้นำยูเครนใช้ความรุนแรงและการนองเลือด พวกเขาทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนนาโตก็ได้ให้อาวุธทันสมัยแก่ยูเครน" นายนิโคลาย แพนคอฟ รมช.กลาโหมรัสเซีย กล่าวต่อวุฒิสภาในนามของปธน.ปูติน

นาโตยันรัสเซียเตรียมพร้อมโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ เขายังอ้างว่า "ตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับ DNR และ LNR ผมจึงขอยื่นข้อเสนอเพื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบการใช้กองกำลังทหารของสหพันธรัฐรัสเซียนอกประเทศ"

         

ทางด้านสภาดูมา ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ได้ให้การอนุมัติก่อนหน้านี้ต่อร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ขณะที่ปธน.ปูตินได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันจันทร์ (21 ก.พ.) โดยถือเป็นการฉีก “ข้อตกลงมินสก์” ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส หลังจากที่ได้คร่าชีวิตของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังยูเครนถึง 15,000 คน

 

ปูตินกร้าว "ข้อตกลงมินสก์ไม่มีอีกต่อไปแล้ว"

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า “ข้อตกลงมินสก์” ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียมีแนวโน้มใกล้บุกโจมตียูเครน

 

ทั้งนี้ การที่ปธน.ปูตินได้ลงนามร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ อย่างเป็นทางการเมื่อต้นสัปดาห์ ถือเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์ ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส

อะไรคือข้อตกลงมินสก์

ข้อตกลงกรุงมินสก์ หรือ Minsk Accords นี้ เกิดขึ้นที่เมืองหลวงของประเทศเบลารุส เพื่อนบ้านของยูเครน เป้าหมายเพื่อมุ่งจะยุติการสู้รบและให้แนวทางด้านการเมืองเพื่อการมอบพื้นที่ๆ ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดครองไว้คืนให้กับรัฐบาลยูเครน โดยฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมลงนามประกอบด้วยองค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (OSCE) รัสเซีย ยูเครน รวมทั้งผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเขตพื้นที่เมืองโดเนตสก์และลูฮันสก์ ของยูเครนด้วย

 

อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวซึ่งถูกจัดทำขึ้น “อย่างเร่งรีบ” ในขณะนั้นเพื่อมุ่งยุติการสู้รบระหว่างกำลังฝ่ายรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพรัสเซีย ได้ทำให้เกิดการหยุดยิง แต่กระนั้น 7 ปีให้หลังคู่กรณีที่สำคัญ คือ ยูเครนกับรัสเซียยังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะมีการตีความข้อตกลงที่แตกต่างกัน

 

นอกจากนี้ รัสเซียยังไม่ยอมรับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้หรือมีข้อผูกพันใดๆ ถึงแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะถูกลงนามโดยอดีตทูตของรัสเซียประจำยูเครนในขณะนั้นก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้น รัสเซียยังไม่ยอมแก้ไขข้อตกลงและได้ประณามกลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นพันธมิตรของยูเครนว่า ไม่ยอมกดดันยูเครนให้ปฏิบัติตามข้อสัญญา ในขณะที่สหรัฐก็แย้งว่า รัสเซียเองยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติเรื่องใดตามที่กำหนดไว้เลย

 

แต่นอกจากการไม่ยอมรับข้อตกลงโดยคู่กรณีแล้ว ประชาชนในยูเครนเองก็มองข้อตกลงนี้ว่าเป็นการทรยศต่อผลประโยชน์ของชาติด้วย โดยเฉพาะในเรื่องข้อกำหนดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นผลให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียอาจมีอำนาจยับยั้งนโยบายต่างประเทศของยูเครนได้

 

นายโอเลกซี ดานิลอฟ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของยูเครนให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงมินสก์ว่า เป็นเรื่องยากที่จะเรียกเอกสารฉบับนี้ว่าข้อตกลง เพราะมันถูกลงนามภายใต้กระบอกปืนของรัสเซียและมีเยอรมนีกับฝรั่งเศสที่ช่วยประสานการเจรจาร่วมเป็นสักขีพยาน ดังนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่ยูเครนจะนำข้อตกลงมินสก์ไปปฏิบัติให้เกิดผล

 

นาโตยันรัสเซียเตรียมโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ

ขณะที่สหรัฐอเมริกาเตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในวันนี้ (23 ก.พ.) เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย หลังจากที่อังกฤษประกาศคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย 5 แห่ง (ได้แก่ ธนาคารรอสซิยา, ไอเอส แบงก์, เจเนอรัล แบงก์, พรอมสวียาซแบงก์ และแบล็คซี แบงก์) รวมทั้งนักธุรกิจชาวรัสเซีย 3 คน  ทางด้านเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมายืนยันว่า ท่ามกลางสถานการณ์กดดันรอบด้าน รัสเซียเตรียมพร้อมโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้ทุกขณะ

 

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า สิ่งบ่งชี้ทุกอย่างบอกว่ารัสเซียยังคงเตรียมการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบต่อยูเครน และนาโตขอเรียกร้องให้รัสเซียถอยหลังกลับ “เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะยกเลิกการโจมตียูเครน”