"โค้ก"ลบภาพลักษณ์ตัวก่อขยะพลาสติก  ตั้งเป้าใช้ขวดรีไซเคิล 25% ใน 8 ปี

11 ก.พ. 2565 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 02:07 น.
518

"โคคา-โคล่า" ตั้งเป้าใช้ขวดรีไซเคิล 25% ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า หวังลบภาพลักษณ์ตัวก่อมลพิษขยะพลาสติกอันดับหนึ่งที่ครองแชมป์มา 4 ปีแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (10 ก.พ.) ระบุ โคคา-โคล่า ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำอัดลมสัญชาติอเมริกัน จะตั้งเป้าหมายให้ บรรจุภัณฑ์ 25% ของโคคา-โคล่า ที่ใช้ทั่วโลกนั้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปีพ.ศ. 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้ โคคา-โคล่าได้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์อันดับหนึ่งของผู้บริโภค นักลงทุน และกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งกล่าวโทษบริษัทเป็นตัวก่อปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับขยะพลาสติก ซึ่งรวมถึงการที่มีขวดเครื่องดื่มของบริษัทถูกทิ้งเป็นขยะอยู่เต็มมหาสมุทร เนื่องจากโคคา-โคล่ายังใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ผลิตจากปิโตรเลียม

 

รายงานประจำปีของ กลุ่มปลอดมลพิษจากพลาสติก หรือ Break Free From Plastic ที่เผยแพร่เมื่อเดือนต.ค.ปี 2564 ระบุว่า โคคา-โคล่าครองแชมป์เป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกที่เลวร้ายที่สุดของโลก 4 ปีติดต่อกันแล้ว

\"โค้ก\"ลบภาพลักษณ์ตัวก่อขยะพลาสติก  ตั้งเป้าใช้ขวดรีไซเคิล 25% ใน 8 ปี

เอ็มมา พรีสต์แลนด์ ผู้ประสานงานแคมเปญบริษัทระดับโลกของกลุ่ม Break Free From Plastic กล่าวว่า ทางกลุ่มหวังว่าบริษัทอื่น ๆ จะดำเนินรอยตามโค้ก แล้วตั้งเป้าหมายในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้กันให้มากขึ้น

ทางด้านโคคา-โคล่าได้อ้างถึงแนวทางของมูลนิธิเอลเลน แมคอาร์เธอร์เกี่ยวกับการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำว่า บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่จะรวมถึงภาชนะที่บริษัทหรือผู้บริโภคสามารถเติมผลิตภัณฑ์เดิมซ้ำได้ อาทิ ภาชนะสำหรับตู้กดน้ำอัดลมแบบรีฟิล ตลอดจนขวดแก้วหรือขวดพลาสติกที่สามารถเติมเครื่องดื่มใหม่ได้ หรือสามารถเก็บส่งคืนให้บริษัท

 

แถลงการณ์ของโคคา-โคล่าระบุว่า 16% ของบรรจุภัณฑ์ของทางบริษัทเป็นแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในปี 2563 และบริษัทได้ทำการเก็บคืนภาชนะแก้วหรือพลาสติกที่สามารถบรรจุเครื่องดื่มใหม่ได้ราว 90% ในปีเดียวกันนั้น

\"โค้ก\"ลบภาพลักษณ์ตัวก่อขยะพลาสติก  ตั้งเป้าใช้ขวดรีไซเคิล 25% ใน 8 ปี

ทางด้านผู้จัดการกองทุนกรีน เซนจูรี แคปิตอล แมเนจเมนต์ ระบุในแถลงการณ์ว่า ประกาศของโคคา-โคล่าเมื่อวันพฤหัสฯ (10 ก.พ.) นับเป็นเจ้าแรกในอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้าหมายดังกล่าว และเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงกลยุทธ์ “ที่น่ายินดี" โดยก่อนหน้านี้ กองทุนดังกล่าว และ "แอส ยู โซ" (As You Sow) กลุ่มนักลงทุนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นข้อเสนอของผู้ถือหุ้นที่เรียกร้องให้โคคา-โคล่าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

นายเจมส์ ควินซีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโคคา-โคล่า กล่าวในการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2564 เมื่อวานนี้ (10 ก.พ.) ว่า หากบริษัทบรรลุเป้าหมายใหม่นี้ได้ ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ “โลกไร้ขยะ” (World Without Waste) ที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น โดยบริษัทมีความตั้งใจที่จะเก็บคืนทุกขวดหรือทุกกระป๋องที่บริษัทขาย ให้ได้ภายในปี 2573

 

ข้อมูลอ้างอิง