จากสถานการณ์โควิด-19 และการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ปีนี้ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เปลี่ยนรูปแบบ การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคมนี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ต้องจัดในรูปแบบการประชุมทางไกล วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งในครั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอให้พิจารณาขึ้นทะเบียน โนรา เป็นมรดกวัฒนธรรม
และในที่สุดการประชุมเมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ยูเนสโก ได้ประกาศให้ “โนรา” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นรายการที่ 3 ของไทย หลังจากการแสดงโขน และนวดไทย ได้เคยถูกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มาก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2561 และปี 2562
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 13.00 น. และถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊ก "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม"
เว็บไซต์ขององค์การยูเนสโก ระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีการรำและการขับร้องจากภาคใต้ของไทย โดยการแสดงประกอบด้วยการตั้งเครื่อง หรือการประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว ตามมาด้วยการโหมโรง กาศครู หรือเชิญครู ซึ่งเป็นการขับร้องบทไหว้ครู และการปล่อยตัวนางรำออกรำโดยการเคลื่อนไหวของขา แขน และนิ้วที่กระฉับกระเฉงและประณีต การแสดงมักจะมาจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระชนมชีพในอดีตของพระพุทธเจ้า หรือเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนาน ประกอบกับดนตรีที่ใช้กลองหุ้มหนังหน้าเดียว ซึ่งเรียกว่า ทับ ที่ให้ทำนองและจังหวะที่หนักแน่น ร่วมกับปี่ กลอง โหม่ง ฉิ่ง แตระ
ส่วนนักแสดงหลักของโนรา ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะสวมชุดหลากสีพร้อมกับเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่า เทริด, ผ้าโพกศีรษะ, เครื่องลูกปัด, ผ้าห้อยข้าง, ปีกนกแอ่นหรือปีกเหน่ง, ทับทรวงปีกหรือหางหงส์ และยังสวมเล็บยาวที่ม้วนงอออกจากปลายนิ้ว โนราเป็นขนบประเพณีของชุมชนที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้งสำหรับภาคใต้ของไทย การแสดงใช้ภาษาถิ่น ดนตรี และวรรณคดี เพื่อเสริมสร้างชีวิตทางวัฒนธรรมและความผูกพันทางสังคมในหมู่คนท้องถิ่น มีอายุมากกว่า 500 ปี โดยการแสดงโนราเกิดขึ้นในศูนย์ชุมชนท้องถิ่น วัด กิจกรรมทางวัฒนธรรม และถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญในบ้าน องค์กรชุมชน และสถาบันการศึกษา
ด้าน เพจโบราณนานมา ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของ ยูเนสโก มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ
ซึ่ง โนรา ของประเทศไทยจัดอยู่ในประเภทแรก คือ มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ การประกาศครั้งนี้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือเรียกอีกชื่อว่า “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ไม่ได้เรียกว่า “มรดกโลก” เพราะ มรดกโลก นั้นหมายถึง สถานที่อันได้แก่ ป่าไม้ อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงเมือง
การแสดงโนรา (Nora) หรือ “มโนราห์” เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกกำหนด โดยมีความสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ธรรมเนียม และการแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม
นอกจากนี้ โนรายังเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าฝึกทักษะการแสดงได้ มีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญยิ่ง การขึ้นบัญชีโนรานี้จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง และทำให้เข้าใจถึงความคล้ายและความแตกต่างของมรดกภูมิปัญญาทั้งในและนอกภูมิภาค