ภูเขาไฟ-แผ่นดินไหว 6.2 เขย่าอินโดนีเซีย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มแตะ 13 ราย

06 ธ.ค. 2564 | 02:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2564 | 09:46 น.
3.3 k

อินโดนีเซียเผยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุภูเขาไฟ “เซเมรู” ที่ปะทุรุนแรงตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (4 ธ.ค.) เพิ่มขึ้นอีกแตะ 13 รายแล้ว

สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งอินโดนีเซีย (BNPB) เปิดเผยวานนี้ (5 ธ.ค.) ว่า เหตุ ภูเขาไฟเซเมรู (Semeru) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนเกาะชวา ตั้งอยู่ในจังหวัดชวาตะวันออก ปะทุรุนแรงเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 98 ราย

 

นายอับดุล มูฮารี โฆษก BNPB กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวผู้เสียชีวิตได้แล้ว 2 ราย แต่ผู้เสียชีวิตรายอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างการระบุตัวตน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดกำลังเข้ารับการรักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์บริเวณใกล้เคียง ขณะที่ทางการอินโดนีเซียได้อพยพประชาชนจำนวนมากออกจากพื้นที่เสี่ยง เถ้าถ่านจากภูเขาไฟปกคลุมอาคารบ้านเรือนและท้องถนนในจังหวัดชวาตะวันออก นอกจากนี้ ภูเขาไฟยังได้พ่นหินหลอมเหลว (ลาวา) ไหลออกมาและเคลื่อนตัวสู่หมู่บ้าน

ท้องฟ้าถูกปกคลุมมืดมิดด้วยเถ้าถ่านและหมอกควันพิษที่ถูกพ่นออกจากปล่องภูเขาไฟเซเมรู

ทั้งนี้ ภูเขาไฟเซเมรู บนเกาะชวา ปะทุรุนแรงพ่นเถ้าถ่าน ลาวา และก๊าซร้อนขึ้นปกคลุมท้องฟ้าเป็นวงกว้างเมื่อวันเสาร์ (4 ธ.ค.) ในวันแรกมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายแต่ต่อมาก็มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจนถึง 13 รายเมื่อวันอาทิตย์ (5 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่เร่งอพยพหลายพันชีวิตออกจากพื้นที่และจำกัดพื้นที่ห้ามเข้าในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟเพื่อความปลอดภัย แต่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้เถ้าภูเขาไฟกลายสภาพเป็นโคลนกีดขวางเส้นทางการจราจร

ด้านศูนย์แนะนำข้อมูลเถ้าถ่านจากภูเขาไฟของประเทศออสเตรเลีย ได้ออกประกาศเตือนภัยบรรดาสายการบิน เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟเซเมรูในครั้งนี้อาจพ่นเถ้าถ่านสูงถึง 15,000 เมตรปกคลุมท้องฟ้า และอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางอากาศ

 

ภูเขาไฟเซเมรู มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,676 เมตร ถือเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนเกาะชวาและเป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 130 ลูกของอินโดนีเซียที่ยังมีพลังระอุอยู่ภายใน

ภูเขาไฟ-แผ่นดินไหว 6.2 เขย่าอินโดนีเซีย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มแตะ 13 ราย

สื่อยังระบุว่า เหตุการณ์ภูเขาไฟเซเมรูปะทุรุนแรงครั้งนี้ ยังตามมาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.2 แมกนิจูดที่จังหวัดซูลาเวซีเหนือ ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศอินโดนีเซียในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (5 ธ.ค.) แต่โชคดีที่ยังไม่มีการเตือนภัยสึนามิ และยังไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว