คาดเงิน “รูเปียห์” ของอินโดฯ เป็นสกุลเงินที่ “แกร่งสุด” ของเอเชียในปี 2564

12 ต.ค. 2564 | 01:19 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2564 | 08:30 น.
1.1 k

ผู้เชี่ยวชาญคาดเงินรูเปียห์ของประเทศอินโดนีเซีย จะเป็นสกุลเงินที่แกร่งสุดของภูมิภาคเอเชียในปี 2564 โดยมีแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ทำให้ยอดเกินดุลการค้าขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกัน

สกุลเงินรูเปียห์ ของ อินโดนีเซีย มีแนวโน้มว่าจะเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดของทวีปเอเชียในปี 2564 นี้ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ช่วยหนุนยอดเกินดุลการค้าของอินโดนีเซีย

 

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินและน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้รับประโยชน์จากวิกฤตพลังงานทั่วโลกที่กำลังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ โดยอินโดนีเซียมีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขการค้าประจำเดือนก.ย.ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ส่วนในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้า 4,740 ล้านดอลลาร์ ทำสถิติเกินดุลต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 16

 

ในไตรมาส 3/2564 เงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้น 1.3% แม้ว่าค่าเงินประเทศอื่น ๆ ในเอเชียจะอ่อนตัวลงจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และด้วยเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียที่สูงเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางอินโดนีเซียจึงสามารถสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์ได้ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงพุ่งขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

คาดเงิน “รูเปียห์” ของอินโดฯ เป็นสกุลเงินที่ “แกร่งสุด” ของเอเชียในปี 2564

นายดิฟยา เดเวช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยสกุลเงินต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ในสิงคโปร์ ระบุว่า เขายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อสกุลเงินรูเปียห์ โดยคาดว่าเงินรูเปียห์จะเป็นหนึ่งในค่าเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียในแง่ผลตอบแทนการลงทุนรวมสำหรับไตรมาส 4/2564

 

นายเดเวชยังให้ความเห็นว่า ขณะนี้อินโดนีเซียมีสถานะที่ดีกว่าก่อนช่วงเหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2556 ด้วยยอดเกินดุลการค้าสะสม 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เทียบกับยอดขาดดุลการค้า 1.2 หมื่นล้านเมื่อ 8 ปีก่อน

 

อย่างไรก็ดี ค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้น กลับมีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น โดยค่าเงินบาทของไทยได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็ส่งสัญญาณว่า ค่าเงินเปโซอาจอ่อนตัวลงอีกในไตรมาสนี้

 

นอกจากนี้ คาดว่าช่วงขาขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์อาจถูกจำกัดหากธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งหน้าตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้