โควิดยุโรปป่วนเทศกาลช้อปปิ้งปลายปี เศรษฐกิจโค้งสุดท้ายสุดกร่อย

16 พ.ย. 2564 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 21:38 น.

ฤดูหนาวกำลังมาเยือน แต่เวลานี้ ยุโรปได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อีกครั้งแล้ว ตลาดคริสต์มาสที่เคยคึกคักของเยอรมนีกำลังถูกโควิดคุกคาม ขณะที่เตียงผู้ป่วยอาการวิกฤติแน่นขนัด ออสเตรียให้ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนอยู่ห่างจากร้านอาหารและคาเฟ่ 

บรรยากาศดังกล่าวมาอาจเป็นเพียงปฐมบทของการกลับเข้าสู่โหมด การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดใน ประเทศแถบยุโรป เนื่องจากมีการแพร่ระบาดพุ่งขึ้นอีกเป็นระลอกใหม่ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในยุโรปที่เริ่มการล็อกดาวน์อีกครั้ง แม้จะจำกัดเฉพาะเป็นบางส่วน

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับคืนสู่ยุโรป นับเป็นการระบาดระลอกที่สี่ โดยในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งปกติจะมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดต่ำกว่าฝั่งตะวันตกอยู่แล้ว สถานการณ์ก็เลวร้ายยิ่งกว่า เช่นในประเทศโรมาเนียและบัลแกเรีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียูเช่นกัน ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิดกำลังไต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งนับรวมรัสเซียเมื่อระบุถึงภูมิภาคยุโรป เผยรายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในยุโรปช่วงสัปดาห์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 10% ซึ่งสวนทางกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกส่วนใหญ่ ที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโควิดลดลง

คริสต์มาสที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

รัฐบาลหลายประเทศยุโรปขณะนี้ตระหนักดีว่าหากนำมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมาบังคับใช้ ก็อาจจะเจอปฏิกริยาตอกกลับอย่างรุนแรงจากประชาชนที่ไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการล็อกดาวน์ที่บางประเทศหวนกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ความยากลำบากอีกประการในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ หากย่อหย่อนเกินไป ก็อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และสุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระหนักแก่สถานรักษาพยาบาลและระบบสาธารณสุข

 

สิ่งที่ยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากของสถานการณ์ คืออากาศหนาวเย็นที่เพิ่มมากขึ้น ได้กลายมาเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้คนหันเข้าไปทำกิจกรรมภายในตัวอาคาร ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงของการแออัดยัดเยียด หรือการรวมตัวของคนจำนวนมากภายในพื้นที่อันจำกัดและอาจมีการระบายอากาศได้ไม่ดีนัก เปิดโอกาสให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากขึ้น ความเสี่ยงดังกล่าวนี้จะเข้มข้นมากที่สุดในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดต่ำ ซึ่งก็คือเยอรมนี เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดต่ำที่สุดในบรรดาประเทศยุโรปตะวันตก  และยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก็ไต่อันดับทำสถิติสูงสุดอยู่ในขณะนี้

 

สถาบันโรแบร์ท ค็อค (Robert Koch Institute) หรือ RKI ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและควบคุมโรคของเยอรมนีออกโรงเตือนว่า สถานการณ์เช่นนี้ ขอแนะนำว่า ควรยกเลิกการจัดงานขนาดใหญ่ หรือกิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวของคนหมู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการชุมนุมขนาดใหญ่ที่จัดภายในอาคาร ที่อาจจะกลายเป็นเหตุการณ์ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” ที่กระจายเชื้อโควิด-19ให้มวลชนจำนวนมาก

สถานการณ์ล่อแหลมด้านสาธารณสุขในเยอรมนี 

แม้ว่าเยอรมนีจะได้ชื่อว่า ประเทศที่จัดการและควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในระยะแรก ๆ แต่โควิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ไวขึ้นในปีนี้ ขณะที่ประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมีไม่ถึง 67 % ทำให้เยอรมนีกลายเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศที่โควิดกลับมาระบาดหนักและอัตราการตาย (จากโควิด) พุ่งขึ้นสวนทางประเทศอื่น ๆ

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิด ทั้งในยุโรปและอเมริกา มักจะเป็นคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ยังไม่ยอมฉีดเพราะพวกเขามองว่าถึงฉีดไป ภูมิคุ้มกันก็จะค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดได้อีก (breakthrough infections) ทำให้พวกเขามีข้ออ้างและเหตุผลที่จะไม่ฉีดวัคซีน

กระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนโควิดยังคงมีอยู่ในเยอรมนี

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้สถานรักษาพยาบาลของเยอรมนีเริ่มได้รับแรงกดดัน และต้องปฏิบัตภารกิจรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างตึงมือ ปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของเยอรมนีเกือบแตะระดับ 50,000 รายแล้ว และในจำนวนนี้ 3,000 รายต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และราว 350 รายจะมีอาการหนักจนต้องเข้าห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ไอซียู) ซึ่งปกติก็รับผู้ป่วยใหม่ได้ยากอยู่แล้ว เพราะโดยปกติ ทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะต้องรับผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษาจำนวนมากอยู่แล้ว อีกทั้งอัตราการตายจากโควิดในเยอรมนีนั้น สูงถึงวันละ 200-250 ราย

 

ดร.คริสเตียน ดรอสเทิน หนึ่งในนักวิทยาไวรัสชั้นนำของประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ยังคงมีประชาชนราว 15 ล้านคนของเยอรมนีที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งอันที่จริง 15 ล้านคนนี้สมควรจะได้รับการฉีดวัคซีนได้แล้ว

 

นางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีรักษาการของเยอรมนี เปิดเผยว่า ยังมีประชาชนวัยผู้ใหญ่ราว 30% ที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีน ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปที่มองว่าพวกเขาควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมหมู่มาก กระนั้นก็ตาม กระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนก็ยังคงมีอยู่และมีคนดังอย่าง “เนนา” (Nena) เจ้าของเพลงดังยุค 80’s “99 Red Balloons” และโจชัว คิมมิคช์ นักบอลคนดัง เข้ามาร่วมเป็นหัวหอกแสดงการต่อต้าน (วัคซีน)

 

เนเธอร์แลนด์ก็ย่ำแย่พอกัน

สถานการณ์โควิดในเนเธอร์แลนด์ ก็เช่นกัน ที่ใกล้ถึงขั้นทำให้ระบบของโรงพยาบาลตึงตัว หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำลายสถิติเดิมของเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

 

ในฤดูหนาวปี 2563 โรงพยาบาลมีการรับผู้ป่วยใหม่เกือบ 250 รายในทุกวัน โดยในช่วงนั้นมีผู้ป่วยสูงสุดประมาณ 2,800 ราย แต่ในขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นต่อวันประมาณ 2,000 ราย และมีผู้ป่วยหนักอีกเกือบ 400 ราย

 

แม้ปัจจุบันจะยังไม่เห็นตัวเลขการติดเชื้อสูงสุด แต่ตัวเลขยังคงมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 100,000 รายในสัปดาห์เดียว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่โควิด-19 เริ่มระบาด โรงพยาบาลทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ปรับลดการรักษาโรคอื่นๆ เพื่อรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว

 

ที่โรงพยาบาลในจังหวัดลิมเบิร์กทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มีข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางโรงพยาบาลกำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องเตียงผู้ป่วยและการขาดแคลนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

 

เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17.5 ล้านคน ขณะนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วประมาณ 85%  แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ในทุกวันเฉลี่ยประมาณวันละ 14,500 ราย ซึ่งทำลายสถิติของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่มีผู้ติดเชื้อต่อวันเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 13,000 ราย ทางการประกาศให้บางส่วนของประเทศกลับสู่การล็อกดาวน์เมื่อวันเสาร์ (13 พ.ย.) รัฐบาลสั่งร้านอาหารและร้านค้าให้ปิดก่อนเวลาที่กำหนดและห้ามไม่ให้มีผู้เข้าชมในการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ เพื่อพยายามควบคุมการระบาดที่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

โควิดยุโรปป่วนเทศกาลช้อปปิ้งปลายปี เศรษฐกิจโค้งสุดท้ายสุดกร่อย

“หากมีการตั้งกฎเกณฑ์หรือมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดออกมา ความรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอยซึ่งเป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสก็อาจสูญสลายไป” อัวร์ซูลา แบร์กมันน์ ซึ่งตั้งซุ้มขายของเล็ก ๆในตลาดคริสต์มาสกลางกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี ให้ความเห็น เธอยังวิตกด้วยว่า สุดท้ายแล้วทางการอาจห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งร้านของเธอขายอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้บรรยากาศเฉลิมฉลองคริสต์มาสต้องเป็นไปอย่างแกนๆ ไม่น่ารื่นรมย์เหมือนที่เคยเป็นมา