ตรวจสถานการณ์โควิดกระหน่ำยุโรป กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่

16 พ.ย. 2564 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 13:02 น.

โควิด-19 กลับมาโหมซัดยุโรประลอกใหม่หลังหลายประเทศเพิ่งคลายล็อกดาวน์ ทำให้ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอีกครั้ง

ยุโรป ได้กลายเป็น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งทำให้รัฐบาลของบางประเทศพิจารณาที่จะหวนกลับมากำหนด มาตรการล็อกดาวน์ รอบใหม่ก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาส ขณะเดียวกันได้เกิดการถกเถียงว่า การใช้วัคซีนอย่างเดียวนั้นเพียงพอที่จะยับยั้งโควิด-19 หรือไม่

 

สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยข้อมูลระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยทั่วโลกในรอบ 7 วันของช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึงราวครึ่งหนึ่งด้วย ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาซึ่งไวรัสโควิด-19 ระบาดสูงสุดครั้งแรกในอิตาลี

 

บรรดารัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างก็วิตกว่า การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง หลายประเทศรวมถึงเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย และสาธารณรัฐเช็ก กำลังดำเนินการ หรือวางแผนมาตรการชุดใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งรวมถึงการกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน หรือล็อกดาวน์เฉพาะกลุ่ม เช่นกรณีของออสเตรีย ซึ่งตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 พ.ย.) ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ประชาชนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ออกนอกบ้านเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติม:ออสเตรีย “ล็อกดาวน์” คนไม่ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ห้ามออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น)  

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ นายมาร์ค รุตเตอ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย.) ซึ่งนับเป็นการกลับมาล็อกดาวน์ครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูร้อน

 

ทั้งนี้ ความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ดังกล่าวซึ่งนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษระบุว่าเป็น "เมฆพายุ" ทั่วยุโรปนั้นได้เกิดขึ้น ในขณะที่การรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จได้แตะระดับสูงสุดแล้วก่อนถึงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไข้หวัดใหญ่มักจะกลับมาแพร่ระบาด

 

รายงานข่าวระบุว่า ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์ ประชากรราว 65% ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบ 2 โดสแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนได้ชะลอลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

สถานการณ์น่าห่วงในเยอรมนี 

เยอรมนีกำลังเผชิญการระบาดระลอก 4 ของโควิด-19 ทำสถิติพบผู้ป่วยโควิดรายวันสูงสุดต่อเนื่องสี่วันติดต่อกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักไวรัสวิทยาออกโรงเตือนหากรัฐบาลไม่รีบรับมืออาจมีผู้เสียชีวิตอีกเป็นแสนคน 

 

สถาบันโรแบร์ท ค็อค (Robert Koch Institute) หรือ RKI ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและควบคุมโรคของเยอรมนีเปิดเผยว่า เยอรมนีพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ถึง 50,196 คนในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นสถิติผู้ป่วยรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน และยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้เยอรมนีมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศพุ่งขึ้นแตะ 4.89 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 235 คน ดันยอดรวมผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 97,198 คน (ข้อมูล ณ 11 พ.ย.) 

 

ดร.คริสเตียน ดรอสเทิน หนึ่งในนักวิทยาไวรัสชั้นนำของประเทศเยอรมนี ได้ออกมาเตือนว่า อาจมีประชาชนอีกกว่า 100,000 คนต้องเสียชีวิตหากยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกนี้ ขณะที่ศาสตราจารย์ เซบาสเตียน ชเตียร์ หัวหน้าแผนกผู้ป่วยโควิดของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไลป์ซิก มีความเห็นว่า การแพร่ระบาดระลอก 4 ในเยอรมนีอาจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เพราะประชาชนจำนวนมากยังคงประเมินปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น "ต่ำเกินไป" แม้ตอนนี้คนส่วนใหญ่น่าจะมีคนรู้จักเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และควรรับรู้ถึงความเสี่ยงได้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 

 

ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนจำนวนมาก "ต่อต้านการฉีดวัคซีน" โดยมีประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไปมากถึง 16 ล้านคนที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบสองเข็ม ขณะที่รัฐบาลยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้คนออกมาฉีดวัคซีน และมีหลายฝ่ายที่ความกังวลว่าจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น 

 

WHO ชี้ยอดติดโควิดรายใหม่ในยุโรปพุ่งเกือบ 2 ล้านราย

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 พ.ย.)ว่า ทวีปยุโรปรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกือบ 2 ล้านรายในรอบ 7 วันดังกล่าว ซึ่งถือเป็นยอดติดเชื้อรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในยุโรป

 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เกือบ 27,000 รายในยุโรป ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งหมดในโลก

 

ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำในยุโรปตะวันออกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขึ้นในบางประเทศยุโรปตะวันตกที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลกด้วย

 

รายงานของ WHO เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์วันที่ 1-7 พ.ย.2564 ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในยุโรป อยู่ที่ 1,949,419 ราย เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบรายสัปดาห์ สวนทางกับสถิติสถานการณ์โควิดในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งรายงานแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงหรือทรงตัว

 

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รายใหม่ในยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 26,726 ราย พุ่งขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในภูมิภาคอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง

 

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป 

ด้านนายเปาโล เจนทิโลนี กรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีของสหภาพยุโรป (EU)ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ EU ว่า การกลายพันธุ์ใหม่ของโคโรนาไวรัสยังคงมีสิทธิ์ทำให้การฟื้นตัวด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรปหยุดชะงัก

 

"เรายังอยู่ท่ามกลางโรคระบาด ดังนั้นเราจึงควรจับตาดูความเป็นไปได้ของการเกิดการกลายพันธุ์ครั้งใหม่อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับยกระดับการฉีดวัคซีน"

 

นายเจนทิโลนีระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะต่อโควิด-19 แม้จะมีการคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อันแข็งแกร่งของยุโรปสำหรับปีนี้ เขามองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเข้มงวดรอบใหม่ อย่างไรก็ดี ตัวเขาเองเชื่อว่า มาตรการเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงดังเช่นในรอบการระบาดครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพราะเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มคุ้นเคยกับสถานการณ์ทำนองนี้แล้ว

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของ EU ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า GDP จะปรับขึ้น 5% สำหรับทั้งกลุ่ม EU และกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) ในปีนี้ (2564)