“เอเวอร์แกรนด์ เอฟเฟคท์” เสี่ยงกระทบตลาดอสังหาฯ จีนแบบโดมิโน

20 ก.ย. 2564 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 22:07 น.
896

นักวิเคราะห์ชี้ “วิกฤตเอเวอร์แกรนด์” สุ่มเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนโดยรวมแบบโดมิโน เผยยังมีบริษัทขนาดเล็กกว่าเอเวอร์แกรนด์อีกมากที่ประสบปัญหาเดียวกัน คิดเป็น 10-15% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนโดยรวม

นักวิเคราะห์จาก บริษัทอัลไลแอนซ์เบิร์นสไตน์ (AllianceBernstein) เตือนว่า บริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มละลาย หลังจากที่ บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับ การผิดนัดชำระหนี้

 

"มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากที่ส่งสัญญาณว่ากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้นาน หากช่องทางในการรีไฟแนนซ์ยังคงถูกปิดกั้นต่อไป" นางเจนนี เจิง นักวิเคราะห์ของอัลไลแอนซ์เบิร์นสไตน์ให้สัมภาษณ์ในรายการ Street Signs Asia ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี โดยเตือนถึงผลกระทบแบบโดมิโนจากความเสี่ยงที่เอเวอร์แกรนด์อาจล้มละลาย

“เอเวอร์แกรนด์ เอฟเฟคท์” เสี่ยงกระทบตลาดอสังหาฯ จีนแบบโดมิโน

นักวิเคราะห์ยังเตือนด้วยว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเอเวอร์แกรนด์ และประสบปัญหาเช่นเดียวกันนั้น คิดเป็น 10-15% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม หากมีการล้มละลายเกิดขึ้นก็อาจส่งผลกระทบ "ในเชิงระบบ" ไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์เริ่มสั่นคลอน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมาตรการสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคธุรกิจดังกล่าว

 

ปัจจุบัน เอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาเนื่องจากมีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และได้รับการเตือนมากกว่าหนึ่งครั้งถึงความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ธนาคารหลายแห่งได้ปฏิเสธที่จะขยายวงเงินกู้ยืมรอบใหม่ให้กับผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการของเอเวอร์แกรนด์ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

“เอเวอร์แกรนด์ เอฟเฟคท์” เสี่ยงกระทบตลาดอสังหาฯ จีนแบบโดมิโน

นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับยังปรัดลดความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ โดย สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทลงสู่ระดับ CC จากระดับ CCC โดยให้แนวโน้มการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นลบ เนื่องจากสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดน้อยลง และบริษัทมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้

 

ด้าน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ลงสู่ระดับ CC จากระดับ CCC+ พร้อมกับเตือนว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะทำให้ธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ของจีนมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยฟิทช์ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ จำนวน 5.72 แสนล้านหยวน (ประมาณ 8.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

สำหรับราคาหุ้นของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ เช้านี้ (20 ก.ย.) ทรุดตัวลงกว่า 17% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฮ่องกง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ความเสี่ยงที่เอเวอร์แกรนด์จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้นั้น อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ เป็นวงกว้าง

 

ส่วนราคาหุ้นของบริษัทในเครือเอเวอร์แกรนด์ร่วงลงเช้านี้เช่นกัน ซึ่งรวมถึงบริษัทในเครือด้านบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า และบริษัทสตรีมมิ่งภาพยนตร์

 

เอเวอร์แกรนด์ ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังได้แจ้งระงับการซื้อขายหุ้นกู้ภายในประเทศของทางบริษัท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาจปูทางไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ หรืออาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้

 

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดต้องชำระดอกเบี้ยจากหนี้จำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนในจีนและนักลงทุนทั่วโลกในวันที่ 23 ก.ย.นี้ จำนวนรวม 83.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ จากนั้นมีกำหนดชำระดอกเบี้ยอีกงวด 47.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 ก.ย.

 

หนี้ที่ต้องชำระเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนี้สินทั้งหมดของเครือข่ายบริษัทเอเวอร์แกรนด์ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 305,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่า 2% ของจีดีพีของประเทศจีน เศรษฐกิจการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศจีนอาจจะชะลอตัวลงจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตามช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนได้ปล่อยเงินเข้ามาในระบบเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามสู่วิกฤติระบบการเงิน โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท หรือ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (9 หมื่นกว่าล้านหยวน)