FBI เปิดเอกสารลับเหตุการณ์ 9/11 ปฐมบทขุดอดีตทวงความยุติธรรม

14 ก.ย. 2564 | 18:31 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 02:17 น.
901

FBI เผยแพร่เอกสารลับความยาว 16 หน้าเมื่อเร็ว ๆนี้ ตามคำสั่งของปธน.โจ ไบเดน เผยให้เห็นข้อเท็จจริงน่าสะพรึงที่ว่า ผู้ก่อเหตุวินาศกรรมในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 หรือเหตุการณ์ 9/11 นั้น อาจเชื่อมโยงกับซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่สหรัฐไม่เคยระบุเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

เหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐโดยกลุ่มอัลกออิดะฮ์ (อัลเคดา) ที่ออกมาประกาศความรับผิดชอบ แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่ครอบครัวของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ให้พวกเขานำไปเรียกร้องขอความยุติธรรมให้แก่ผู้วายชนม์และทุกคนที่เป็นผู้สูญเสีย  

 

ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งเมื่อต้นเดือน ก.ย.นี้ ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวนคดีวินาศกรรม 11 กันยายน หรือ 9/11 “เท่าที่จะสามารถเปิดเผยได้” โดยหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม หรือ สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ข้อมูลชุดหนึ่งจึงถูกยกเลิกสถานะ “ความลับ” และมีการเผยแพร่ออกมาในที่สุด ในโอกาสครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 9/11 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

เนื้อหาเอกสารความยาว 16 หน้าที่เผยแพร่โดย FBI ถือเป็นเอกสารการสืบสวนชิ้นแรกที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคำสั่งให้เปิดเผย ระบุถึงการติดต่อระหว่างผู้จี้เครื่องบินกับพลเมืองชาวซาอุฯ ในสหรัฐ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลซาอุฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนก่อการร้ายครั้งนี้หรือไม่

FBI เปิดเอกสารลับเหตุการณ์ 9/11 ปฐมบทขุดอดีตทวงความยุติธรรม

จุดที่กดดันให้ผู้นำสหรัฐต้องออกมาทำอะไรสักอย่างในเรื่องนี้ คือการเรียกร้องของครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 ที่ต้องการให้รัฐบาลเปิดเผยเอกสารลับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลซาอุฯ ในการโจมตี 9/11 เพื่อที่พวกเขาจะนำไปใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

 

การเปิดเผยเอกสารลับชิ้นแรกนี้จึงมีขึ้นในคืนวันเสาร์ที่ 11 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐฯ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ปธน.ไบเดน เดินทางเยือนอนุสรณ์สถาน 3 แห่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งได้แก่ ที่ตั้งของจุดที่เคยเป็นอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก จุดตกของเครื่องบินที่ผู้ก่อการร้ายจี้มาพบจุดจบในเมืองแชงค์สวิลล์รัฐเพนซิลเวเนีย และที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือ เพนตากอนชานกรุงวอชิงตัน โดยก่อนหน้านี้บรรดาครอบครัวผู้เสียชีวิตต่างคัดค้านไม่ให้ ปธน.ไบเดน เดินทางไปยังอนุสรณ์สถานเหล่านั้นจนกว่าจะมีการเปิดเผยเอกสารดังกล่าว

 

ข้อมูลจากเอกสารส่วนหนึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่านายนาวาฟ อัลฮัซมี และนายคาลิด อัล มิดฮาร์ สองผู้ก่อการร้ายที่จี้ชิงเครื่องบิน เป็นชาวซาอุดีอาระเบียที่เดินทางมายังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2543 ในฐานะนักศึกษา โดยทั้งคู่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเดินทาง ที่พัก และการเงิน จากนายโอมาร์ บายูมี ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาในฐานะนักศึกษาเช่นเดียวกัน

หายนะครั้งนั้น สามารถป้องกันได้จริงหรือ

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการโจมตีสหรัฐเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยสถานทูตซาอุฯ ประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวสนับสนุนการเปิดเผยเอกสารลับทั้งหมดอย่างเต็มที่ เพื่อยุติข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานและไม่เป็นความจริงที่ว่า ซาอุฯ อาจเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมครั้งนั้น

 

แต่มีพยานหลายคนพบเห็นว่านายบายูมี เดินทางไปที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครลอสแอนเจลิสบ่อยครั้ง ซึ่งแหล่งข่าวยังระบุว่านายบายูมีเป็นบุคคลสำคัญซึ่งมีตำแหน่งสูงในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย จึงต้องสงสัยว่าเขาอาจเป็นสายลับซาอุฯ

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนการก่อการร้ายครั้งนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีองค์กรอิสระที่เป็นท่อนำเลี้ยงให้กับผู้ก่อการร้าย

 

เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารการสืบสวนชุดแรกนี้ออกมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียซึ่งยืนกรานมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีสหรัฐในครั้งนั้น ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อการเผยแพร่เอกสารลับของสหรัฐและแสดงจุดยืนสนับสนุนความโปร่งใส โดยยังคงยืนยันว่ารัฐบาลซาอุฯ ไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ กับเหตุวินาศกรรม 9/11

 

ขณะที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตกำลังตั้งตารอคอยเอกสารชุดต่อๆ ไป ที่จะได้รับการเผยแพร่ในอนาคต นายจิม ไคลด์เลอร์ ทนายความของบรรดาครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้ออกแถลงการณ์ว่า เอกสารการสอบสวนของเอฟบีไอช่วยพิสูจน์ข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลซาอุฯ ในการโจมตีครั้งนั้น ประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ ที่รวบรวมมาได้ ช่วยชี้ให้เห็นว่ากลุ่มอัลกออิดะฮ์ หรือ อัลเคดา เคลื่อนไหวอยู่ในสหรัฐด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลซาอุฯ ก่อนที่จะเกิดการโจมตี 9/11

 

ทนายไคลด์เลอร์กล่าวต่อไปว่า หลักฐานที่มีนั้น รวมถึงบันทึกการสื่อสารทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซาอุฯ กับเครือข่ายอัลเคดา และการนัดพบโดยบังเอิญ ตลอดจนการจัดหาความช่วยเหลือด้านที่อยู่และโรงเรียนการบินให้แก่คนร้ายจี้เครื่องบินสองคนด้วย

 

ถ้าหากว่านายบายูมี เป็นชาวซาอุฯที่ให้ความช่วยเหลือและที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายทั้งสองคนขณะพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาจริง แต่ไม่รู้เรื่องใด ๆ ด้วยเลยนั้น ก็ถือว่าให้ที่พักพิงแก่โจรโดยไม่ระแคะระคาย แต่หากเขามีส่วนรู้เห็นด้วย เอกสารลับนี้ก็เป็นปฐมบทแห่งการเปิดเผยความจริงที่น่าสะพรึงกลัว และอาจจะสืบสาวได้ถึงอันตรายใกล้ตัวในสังคมอเมริกันในฐานะเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายที่นานวันก็ยิ่งจะอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ