ทำความรู้จัก Ronapreve (โรนาพรีฟ) ยาแอนติบอดีแบบผสม รักษาผู้ป่วยโควิด

14 ก.ย. 2564 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 09:31 น.
529

เดือนส.ค.ที่ผ่านมา อังกฤษอนุมัติการใช้ยาแอนติบอดีแบบผสม ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท รีเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคอลส์ (Regeneron Pharmaceuticals) จากสหรัฐ ร่วมกับโรช (Roche) จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เรามาทำความรู้จักกับยาชนิดนี้กันให้มากขึ้น

ยาดังกล่าวมีชื่อทางการค้าว่า โรนาพรีฟ (Ronapreve) ในประเทศอังกฤษ แต่ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา จะใช้ชื่อว่า รีเจน-โควี (REGEN-COV) โลกได้รับรู้เกี่ยวกับยานี้ครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 เมื่อครั้งทีมแพทย์ที่รักษาอาการป่วยโควิด-19 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลขณะดำรงตำแหน่ง ได้ออกมาเปิดเผยว่า แพทย์ได้ใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาอาการป่วยให้แก่ประธานาธิบดีจนเขาหายและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก

 

ปัจจุบัน ยาโรนาพรีฟได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการรักษาและป้องกันโควิด-19 ในนานาประเทศทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติใช้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก

ทำความรู้จัก Ronapreve (โรนาพรีฟ) ยาแอนติบอดีแบบผสม รักษาผู้ป่วยโควิด

ป้องกันการติดเชื้อ-ลดโอกาสพัฒนาอาการสู่ระดับรุนแรง

สำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของอังกฤษ (MHRA) ระบุในแถลงการณ์ว่า ยาแอนติบอดีโรนาพรีฟ (Ronapreve) ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด ช่วยรักษาอาการป่วยหนัก และช่วยลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ผู้ป่วยจะได้รับยาดังกล่าวผ่านการฉีดหรือให้สารละลายทางเส้นเลือด โดยที่ยาโรนาพรีฟจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนาเข้าถึงเซลล์ของระบบทางเดินหายใจ จึงมุ่งเน้นใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงสูงว่าอาการจะพัฒนาสู่ระดับที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังใช้ได้กับผู้ป่วยที่แสดงอาการออกมาแล้ว หรือใช้กับผู้ที่เพิ่งไปสัมผัสกับผู้ป่วยโควิดมา ซึ่งเมื่อใช้ยาก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อลงได้

 

ยาดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีชื่อว่า โมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibodies) หรือ mAbs ซึ่งเลียนแบบแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติเพื่อต้านทานการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี หน่วยงานฯ ระบุว่าไม่ได้นำยาโรนาพรีฟมาใช้แทนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดแต่อย่างใด  

 

นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า ยาโรนาพรีฟจะเป็นกำลังเสริมสำคัญที่อังกฤษนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม 2564  ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติใช้ยาโรนาพรีฟเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง

 

ญี่ปุ่นอนุมัติใช้อย่างเต็มรูปแบบ

การอนุมัติของทางการญี่ปุ่นอ้างอิงผลการทดลองระยะที่ 3 ของยาสารภูมิต้านทานแบบผสมชนิดนี้ (หรือบางครั้งจะพบว่าสื่อใช้คำว่า ยาแอนติบอดีค็อกเทล) ที่พบว่าสามารถลดความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยหรือปานกลางจะป่วยหนักขึ้นจนถึงขั้นต้องรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต แถลงข่าวของบริษัท โรช ผู้พัฒนายาร่วมกับบริษัท รีเจนเนอรอน ระบุว่า ยาโรนาพรีฟได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นแล้ว โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่อนุมัติยานี้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ลีวาย การ์ราเวย์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทโรชฯ เปิดเผยว่า  โรนาพรีฟสามารถปรับปรุงอัตราการรอดชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ความเสี่ยงสูงที่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยการลดความเสี่ยงของการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต นอกจากนี้ ความสามารถของยานี้ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เกิดใหม่ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา ก็แสดงให้เห็นในขั้นก่อนการศึกษาทางคลินิกด้วย

 

ทั้งนี้ ในการทดลองระยะที่ 3 โรนาพรีฟแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูงได้รับการรักษาด้วยยานี้แล้วมีอัตราเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตลดลง 70% โรนาพรีฟยังลดระยะเวลาของการเจ็บป่วยตามอาการลงได้ 4 วัน และจากการทดลองระยะที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยและความทนต่อยานี้ในหมู่ประชากรชาวญี่ปุ่นด้วย

 

เหมาะจะใช้กับใครบ้าง

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ยาโรนาพรีฟได้รับการอนุมัติสำหรับใช้งานแบบฉุกเฉินหรือชั่วคราวในหลายประเทศและภูมิภาค รวมถึงสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ขณะที่องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) กำลังพิจารณายานี้ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นการรักษาแบบทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโควิดที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก

 

การใช้ยาโรนาพรีฟในเชิงรักษายังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน หรือมีภูมิต้านทานบกพร่อง อาทิ ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งร่างกายยังตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัสต่าง ๆ ได้ไม่ดีนัก

 

การพัฒนาต้องใช้เวลาและต้นทุนสูง

เนื่องจากยาประเภทแอนติบอดีนั้นพัฒนาจากโมเลกุลชีวภาพมากกว่าโมเลกุลทางเคมี ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมภายใต้ระบบควบคุมของห้องทดลอง จึงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและมีต้นทุนสูง โดยปกติแล้วการผลิตยาประเภท mAbs ปริมาณ 1 กรัม ต้องใช้ต้นทุนผลิตระหว่าง 95-200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,121 – 6,571 บาท) จำนวนดังกล่าวไม่รวมต้นทุนการวิจัย

 

ราคายาโรนาพรีฟยังไม่ได้กำหนดชัดเจน (ข้อมูล ณ 27 ส.ค.2564) แต่ในประเทศอินเดีย ยาดังกล่าวมีราคาจำหน่ายโดสละ 57,750 รูปี หรือราว 566 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 25,726 บาท เป็นราคาที่นับว่าสูงเกินเอื้อมสำหรับประชากรโลกส่วนใหญ่ แต่ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา โรงพยาบาลสามารถจ่ายยาดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยได้ฟรี เนื่องจากได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ส่วนในประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้โรงพยาบาลจ่ายยาแก่ผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น เนื่องจากการรักษาด้วยยาโรนาพรีฟแต่ละครั้งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย 1,000-2,000 ปอนด์ (หรือประมาณ 45,450 – 90,900 บาท)

 

ที่มา  Ronapreve: new COVID-19 treatment has just been authorised – here’s everything you need to know