เวียดนามเตรียมกำลังพล 5 แสนนาย รับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อน "โกนเซิน"

10 ก.ย. 2564 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 14:17 น.

กองทัพเวียดนามจัดเตรียมกำลังพลจำนวน 500,000 นายเพื่อรับมือกับพายุโซนร้อน"โกนเซิน"ที่กำลังทวีความรุนแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น ขณะเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ และจะขึ้นฝั่งเวียดนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

“โกนเซิน” (Typhoon Conson) เป็นพายุลูกที่ 5 ที่จะ พัดถล่มเวียดนาม ในปีนี้ โดยคาดว่าจะทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนราว 800,000 คนในภาคเหนือของเวียดนาม ทั้งยังคาดหมายว่า พายุดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดภาวะดินถล่มได้

 

กรมอุตุนิยมวิทยาเวียดนามแถลงว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนอีก 6-8 ลูกก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ในปีนี้

เวียดนามเตรียมกำลังพล 5 แสนนาย รับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อน \"โกนเซิน\"

ก่อนหน้านี้ พายุโกนเซินได้สร้างความเสียหายใน ประเทศฟิลิปปินส์ โดยพายุดังกล่าวพัดถล่มพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และสูญหาย 17 ราย ขณะที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยในภาคกลาง และทำให้ประชาชนหลายพันคนไร้ที่พักอาศัย และหลายครัวเรือนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้

ส่วนในกรุงมะนิลา เมืองหลวงซึ่งยังคงอยู่ใต้ภาวะล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางการได้ออกประกาศเตือนภัยธรรมชาติในระดับที่ 1  ซึ่งหมายความว่า อาจมีลมพัดแรงภายในช่วง 36 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ฟิลิปปินส์จะต้องเผชิญกับพายุโซนร้อนและพายุใต้ฝุ่นประมาณ 20 ลูก ไม่นับรวมพายุมรสุมที่มีตามฤดูกาล นอกจากนี้ การที่ฟิลิปปินส์ตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟแห่งแปซิฟิก (Ring of Fire) จึงมักต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติในรูปของแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นประเทศที่ต้องพบกับภัยธรรมชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

โกนเซินทำให้เกิดฝนตกหนักและภาวะน้ำท่วมฉับพลันในประเทศฟิลิปปินส์

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุโซนร้อน “โกนเซิน” ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 17.00 น.ระบุว่า พายุโซนร้อน “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.5 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมกรมอุตุฯเตือนประกาศฉบับ 2 "พายุโซนร้อนโกนเซิน")