ทำความรู้จักโควิดกลายพันธุ์ “มิว” สายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มดื้อวัคซีน

06 ก.ย. 2564 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2564 | 20:22 น.
2.0 k

ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์มิว (Mu) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.621 ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นไวรัสโควิด 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest :VOI) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 ซึ่งหมายความว่า น่าจับตาเป็นพิเศษและศึกษาเพิ่มเติม

มิว (Mu) เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest :VOI) สายพันธุ์แรกถัดจากสายพันธุ์แลมบ์ดา ที่ WHO ขึ้นบัญชีเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รายงานระบาดวิทยาฉบับล่าสุดของ WHO ระบุว่า มิวมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่งซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีคุณสมบัติทำให้มันหลุดรอดภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

 

โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “มิว” ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อเดือน ม.ค.2564  และมีรายงานพบการระบาดในอีกหลายพื้นที่ของอเมริกาใต้และยุโรป แต่ยังไม่พบมากเท่าสายพันธุ์เดลตา

 

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์มิวในสัดส่วนเล็กน้อย แต่ก็แพร่ระบาดใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นทุกที โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจพบแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่า “มิว” มีคุณสมบัติต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือติดเชื้อและหายแล้วหรือไม่

 

คุณสมบัติที่อาจดื้อต่อวัคซีน

พอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากองค์กรไม่แสวงหากำไร “เมเทอร์ เฮลธ์ เซอร์วิส” และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญมักจะมองหาสายพันธุ์กลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามที่ทำให้คนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ง่าย

 

“ถ้าโปรตีนหนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็แน่นอนว่าวัคซีนที่เรามีอาจป้องกันได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ต้องใช้เวลาสักระยะ ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น” นักวิชาการกล่าว

ทำความรู้จักโควิดกลายพันธุ์ “มิว” สายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มดื้อวัคซีน

WHO กำลังวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสายพันธุ์มิว ขณะที่นายกริฟฟินกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ในขณะนี้ ว่ามิวเป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดภูมิคุ้มกันไปได้

 

สำหรับความชุกของการติดเชื้อทั่วโลกนับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรก ขณะนี้ยังตรวจพบสายพันธุ์ “มิว” ในสัดส่วนที่น้อยมาก ทั่วโลกมีพบระบาดอยู่ในอย่างน้อย  40 ประเทศ แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก  พื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์ “มิว” มากที่สุดคือ ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งตรวจพบเป็นแห่งแรก มีอัตราความชุกที่ 39% และเอกวาดอร์ 13%  แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีรายงานการระบาดในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนเอเชียตะวันออก มีการตรวจพบที่ญี่ปุ่น

 

โดยในกรณีการตรวจพบสายพันธุ์มิว ใน ผู้ติดเชื้อ 2 รายแรกที่ญี่ปุ่น นั้น มีรายงานยืนยันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ก.ย.) โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รายแรกเป็นสตรีในวัย 40 ที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เข้าญี่ปุ่นวันที่ 26 มิ.ย. อีกรายเป็นสตรีในวัย 50 ปี เดินทางมาจากอังกฤษ ถึงญี่ปุ่นวันที่ 5 ก.ค. ทั้งคู่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ ผู้เดินทางจากต่างประเทศมาถึงญี่ปุ่น จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR และหากผลออกมาเป็นบวก (ตรวจพบเชื้อโควิด) ก็ต้องเข้ากักตัวในสถานที่ที่กำหนด หรือเขจ้ารับการรักษาตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบ ต้องเข้ากักตัว 14 วันที่บ้านหรือที่พักที่ทางการกำหนด   

 

ยังไม่พบการระบาดในไทย

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลระบุว่า มิวเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่ามีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่จากรหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่า อาจจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้

 

5 สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (ต้องจับตาและศึกษาเพิ่ม) มีอะไรบ้าง   

สำหรับโควิดกลายพันธุ์ทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ถูก WHO ขึ้นบัญชีเป็น สายพันธุ์น่าสนใจ (VOI) ได้แก่

  1. เอตา พบครั้งแรกในหลายประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.2563
  2. ไอโอตา พบครั้งแรกที่สหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.2563
  3. คัปปา พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อ ต.ค.2563
  4. แลมป์ดา พบครั้งแรกในเปรู เมื่อเดือน ธ.ค.2563
  5. มิว พบครั้งแรกในโคลอมเบีย เมื่อ ม.ค.2564

 

ส่วน สายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC: Variant of concern)  4 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. อัลฟา พบครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อก.ย. 2563
  2. เบตา พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เมื่อ พ.ค.2563
  3. แกมมา พบครั้งแรกในบราซิล เมื่อ พ.ย.2563
  4. เดลตา พบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อ ต.ค.2563

 

โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสนั้น เมื่อเวลาผ่านไปไวรัสกระจายไปมากก็มีโอกาสกลายพันธุ์มาก ผู้เชี่ยวชาวชาญระบาดวิทยากล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการสกัดกั้นการกลายพันธุ์ของไวรัส คือจำกัดการแพร่กระจายด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้มากขึ้นเพื่อลดโอกาสที่ไวรัสจะมีชีวิตรอดในร่างกายมนุษย์