ฝรั่งเศส-อิตาลี ขยายการใช้งาน “หลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนโควิด”

07 ส.ค. 2564 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2564 | 13:40 น.

“หลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนโควิด” นี่คือสิ่งที่คนฝรั่งเศสและอิตาลีต้องพกไว้เมื่อออกจากบ้าน โดยประชาชนต้องแสดงสิ่งนี้ก่อนได้รับอนุญาตเข้าใช้บริการสถานที่สาธารณะ รวมทั้งร้านอาหาร โรงยิม ศูนย์การค้า ฯลฯ ในอิตาลี การไม่ฉีดวัคซีน อาจทำให้คุณถูกสั่งพักงานได้ด้วย

สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้อนุมัติมาตรการที่รัฐบาลเสนอให้ขยายการใช้งาน ใบรับรองสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ครอบคลุมสถานที่สาธารณะมากขึ้น พร้อมบังคับบุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีน โดยชี้ว่ามาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศ

 

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ค. รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอว่าประชาชนที่ต้องการใช้บริการคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงยิม ศูนย์การค้า แม้กระทั่งโรงพยาบาล (ยกเว้นเหตุฉุกเฉิน) จะต้องแสดงใบรับรองที่ยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส และมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ หรือเพิ่งหายจากโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ติดเชื้อได้ง่าย

ผู้ใช้บริการคาเฟ่-ร้านอาหาร ต้องแสดงใบรับรองที่ยืนยันการฉีดวัคซีนต้านโควิดครบโดส หรือผลตวจเชื้อเป็นลบ

ฝรั่งเศสบังคับใช้ใบรับรองข้างต้นตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. แต่จำกัดเฉพาะการรวมตัวกันเกิน 50 คน ในสถานที่ทางวัฒนธรรมและสันทนาการ อาทิ โรงภาพยนตร์และพิพิธภัณฑ์

 

ขณะเดียวกันคณะตุลาการปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลที่ต้องการกำหนดให้ผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกกักตัว 10 วัน รวมถึงเงื่อนไขที่อนุญาตนายจ้างปลดพนักงานประจำหรือพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวที่ไม่มีใบรับรองสุขภาพดังกล่าว

 

 รายงานระบุว่า ชุดข้อจำกัดใหม่ ซึ่งรัฐสภาลงมติเห็นชอบเมื่อเดือนก.ค. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ สร้างความโกรธเคืองแก่ประชาชน แม้ฝ่ายบริหารชี้ว่าเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการควบคุมไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา” และหลีกเลี่ยงการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่ แต่นักวิจารณ์แย้งว่ามาตรการนี้ทำลายเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน

 

สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศสระบุว่า ปัจจุบันมีชาวฝรั่งเศสฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสจำนวนกว่า 36 ล้านคน ขณะกำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยฝรั่งเศสมีผู้ป่วยโควิดสะสมแตะ 6.2 ล้านราย เมื่อนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาด ส่วนยอดผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่เกือบ 120,000 ราย

 

สถาบันปาสเตอร์ หนึ่งในศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งสำคัญของฝรั่งเศส ระบุว่า การเร่งกระบวนการฉีดวัคซีน การขยายการใช้งานใบรับรองสุขภาพ และการดำเนินมาตรการป้องกัน อาจมีผลในการบรรเทาระดับความร้ายแรงของการแพร่ระบาดที่คาดว่าจะแตะจุดสูงสุดในเดือนก.ย.นี้

 

อิตาลีบังคับใช้กรีนพาสในสถานศึกษา-การเดินทางไกล

ทางด้าน รัฐบาลอิตาลี มีความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยมีการอนุมัติกฎหมายฉบับใหม่ที่บังคับใช้ กรีนพาส (green pass) สำหรับบุคลากรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัย และผู้โดยสารระบบขนส่งทางไกล อาทิ เครื่องบิน เรือ เรือข้ามฟาก และรถไฟ

 

ทั้งนี้ กรีนพาส คือใบรับรองที่ออกโดยหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อยืนยันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การมีผลตรวจเชื้อโควิดเป็นลบ หรือการหายดีจากโรคโควิด-19

 

นายโรแบร์โต สเปรานซา รัฐมนตรีสาธารณสุขของอิตาลี แถลงต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมของคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลเลือกใช้กรีนพาสในฐานะ “เครื่องมือช่วยหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์และรักษาเสรีภาพของประชาชน”

 

ปัจจุบัน รัฐบาลอิตาลีได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชน โดยสามารถฉีดไปแล้วกว่า 70 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนครบโดสกว่า 62% ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้ที่ฉีดแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส 68%

 

มาตรการที่เข้มข้นยิ่งไปกว่านั้นเปิดเผยโดยนายปาตริซิโอ บีอางคี รัฐมนตรีศึกษาธิการ ที่ระบุว่า บุคลากรในโรงเรียนที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีน จะถูกสั่งพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนนักเรียนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนจะถือเป็นการขาดเรียนโดยไร้เหตุผลรองรับ

การบังคับใช้ "กรีนพาส" ในอิตาลี มีกระแสประท้วงต่อต้านเช่นกัน

รัฐบาลอิตาลีประกาศบังคับใช้กรีนพาสครั้งแรกในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาสำหรับผู้ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ เข้าบ้านพักคนชรา เดินทางภายในประเทศ และเดินทางภายในสหภาพยุโรป(อียู)

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 7,230 รายเมื่อวันพฤหัสฯ (5 ส.ค.)  หายดีแล้ว 3,371 ราย และเสียชีวิต 27 ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมอยู่ที่ระดับ 4,383,787 ราย ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด 128,187 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค.จากเว็บไซต์ worldometer)