มาเลเซียเลิกใช้ “ซิโนแวค” หันใช้ “ไฟเซอร์” หลังจองซื้อได้แล้ว 45 ล้านโดส

16 ก.ค. 2564 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 15:08 น.
3.1 k

สธ.มาเลเซียประกาศจะใช้ "วัคซีนไฟเซอร์" ในโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชนแแทนวัคซีนซิโนแวค หลังจองซื้อได้แล้วราว 45 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากร

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียแถลงวานนี้ (15 ก.ค.) ว่า มาเลเซียจะไม่ใช้วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคในโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอีกต่อไปหลังจากใช้วัคซีนที่เหลืออยู่ในสต็อกจนหมดแล้ว เนื่องจากมีวัคซีนยี่ห้ออื่นมากเพียงพอ ซึ่งรวมถึงของวัคซีนไฟเซอร์ที่จองซื้อแล้วราว 45 ล้านโดส

 

หน่วยงานสาธารณสุขของมาเลเซียอนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วหลายยี่ห้อ ซึ่งนอกจากซิโนแวคแล้วยังมีวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีนของบริษัท แคนซิโนไบโอโลจิก และวัคซีนแจนเซ็นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) นอกจากนี้ ทางการมาเลเซียยังเตรียมประกาศผลการตัดสินใจในวันนี้ (16 ก.ค.) ด้วยว่าจะเพิ่มวัคซีนซิโนฟาร์มจากจีนสำหรับใช้ในประเทศหรือไม่

มาเลเซียเลิกใช้ “ซิโนแวค” หันใช้ “ไฟเซอร์” หลังจองซื้อได้แล้ว 45 ล้านโดส

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายอัดฮัม บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเมื่อวันพฤหัสฯ (15 ก.ค.) ว่า มาเลเซียได้รับวัคซีนซิโนแวคจากจีน 16 ล้านโดส ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวถูกนำมาใช้แล้ว ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยนั้น พวกเขาจะได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์แทน

 

หลังจากนี้โครงการวัคซีนของมาเลเซียจะใช้วัคซีนของไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทบิออนเทคของเยอรมนีเป็นหลัก โดยมาเลเซียได้วัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 45 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อการครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ

 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยกรณีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่ได้มา 12 ล้านโดสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำข้อตกลงซึ่งจะให้บริษัท ฟาร์มาเนียกา ของมาเลเซียได้เป็นผู้บรรจุและกระจายวัคซีนภายในประเทศ

 

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า การประกาศยุติการใช้วัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลมาเลเซียมีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ว่าจะสามารถต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยยกตัวอย่างว่า ประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซียอย่างไทย ก็เพิ่งประกาศจะสลับไปฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก ขณะที่อินโดนีเซียก็มีแผนจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว

 

มาเลเซียเลิกใช้ “ซิโนแวค” หันใช้ “ไฟเซอร์” หลังจองซื้อได้แล้ว 45 ล้านโดส

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 13,215 ราย ซึ่งเป็นการทำสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 880,782 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น 110 ราย สู่ระดับ 6,613 ราย ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคเช่นกัน โดยราว 26% ของประชากร 32 ล้านคน ได้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส