ความจริงเจ็บๆ ของ “วัคซีนซิโนแวค” ในอินโดนีเซีย

19 มิ.ย. 2564 | 01:29 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2564 | 06:20 น.
9.8 k

มีกรณีความน่าสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ “วัคซีนซิโนแวค” เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ล่าสุดแพทย์อินโดนีเซียกว่า 350 คนติดโควิด-19 แม้ว่าทุกคนจะฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดสแล้วก็ตาม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แพทย์ ซึ่งเป็น บุคลากรด่านหน้าในอินโดนีเซีย กว่า 350 คน ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการ ฉีดวัคซีนของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) แล้วก็ตาม ในจำนวนนี้นับสิบรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ความจริงเจ็บๆ ของ “วัคซีนซิโนแวค” ในอินโดนีเซีย

นายบาได อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขที่เมืองคูดุส (Kudus) ในจังหวัดชวากลาง เปิดเผยว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและกักตัวอยู่ลำพังในบ้านของตนเอง แต่ก็มีอยู่นับสิบรายที่มีไข้สูง มีความหนาแน่นของออกซิเจนในเลือดต่ำ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ข่าวระบุว่า เมืองคูดุสซึ่งตั้งอยู่ในชวากลางกำลังเผชิญกับโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่สามารถแพร่กระจายได้ไวขึ้น จนทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีอัตราการครองเตียงมากกว่า 90%

อินโดนีเซียเริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มบุคลากรการแพทย์เป็นกลุ่มที่ได้สิทธิในการรับวัคซีนก่อนเนื่องจากต้องทำงานคลุกคลีเป็นด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ป่วย ข้อมูลจากสมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซีย หรือ ไอดีไอ เผยว่า บุคลากรการแพทย์เกือบทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านชีวเภสัชภัณฑ์ของจีน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชี้ว่าแม้บุคลากรการแพทย์จะติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาก็มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยยอดบุคลากรการแพทย์ที่เสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 ได้ลดลงจาก 158 รายในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เหลือเพียง 13 รายในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ สิ่งที่สร้างความกังวลใจคือเรื่องของจำนวนบุคลากรการแพทย์ที่ถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

นายแพทย์ ดิกกี บูดิแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลของอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นว่า บรรดาบุคลากรการแพทย์ในชวากลางนั้นติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแม้ว่าพวกเขาจะได้รับวัคซีนป้องกันของบริษัทซิโนแวคแล้วก็ตาม “ตอนนี้เรายังไม่รู้ชัดว่า จริง ๆแล้ววัคซีนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการต้านทานไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา” นพ.บูดิแมนกล่าว

ทั้งนี้ ยังไม่มีโฆษกของบริษัทซิโนแวค หรือตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ออกมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อสงสัยที่มีต่อประสิทธิภาพของวัคซีนบริษัทซิโนแวค ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac)    

อินโดนีเซียเป็นประเทศในเอเชียที่เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่ง โดยจนถึงขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อโควิดแล้วมากกว่า 1.9 ล้านราย มียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด 53,000 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบุคลากรการแพทย์และพยาบาลที่เสียชีวิตจากโควิด 946 ราย

เลนนี เอคาวาตี จาก laporCOVID-19 ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า ผู้คนที่รับมือกับโควิดมาจนเหนื่อยล้า มีทัศนคติว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วพวกเขาก็ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว และอาจเริ่มปล่อยปละละเลยมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข แต่เนื่องจากในอินโดนีเซียมีการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ไวขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจึงเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่พวกเขาคิด เพราะแม้แพทย์พยาบาลจะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดแล้ว แต่ทั่วทั้งอินโดนีเซียในขณะนี้ ก็มีแพทย์อย่างน้อย 5 คน และพยาบาล 1 คนที่เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว

ข้อมูลอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง